วันนี้ในอดีต

ยาน“ชาเลนเจอร์”ระเบิด!! ไม่มีผู้รอดชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เป็นการระเบิดกลางอากาศ หลังยานขนส่งอากาศแชลเลนเจอร์ ทะยานจากศูนย์อวกาศเคนเนดี้ แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เพียง 73 วินาทีลูกเรือทั้งเจ็ดคนเสียชีวิต

 

         ภาพจำ กลุ่มควันสีขาวและเปลวไฟ จากการระเบิดของถังเชื้อเพลิง ในชุดจรวดขับดันหลัก และภาพของแคปซูลห้องนักบิน ที่กระเด็นออกมาจากตัวยานหลังการระเบิด ดิ่งลงมายังพื้นดินจากความสูง 14 กิโลเมตรครึ่ง ยังคงติดตาชาวอเมริกันและประชาชนทั่วโลก ที่ได้เห็นภาพข่าวสุดสยองจากสื่อต่างๆ ที่รายงานข่าวเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2529     

        แม้กาลเวลาที่ผ่านไปทุกวินาที อาจทำให้มนุษย์หลงลืมเหตุการณ์ที่ไม่สำคัญไปได้เสมอ แต่กับเหตุการณ์ยานกระสวยอวกาศ “ชาเลนเจอร์” ระเบิดกลางอากาศ หลังจากปล่อยยานเพื่อปฏิบัติภารกิจเอสทีเอส 51 แอล ได้เพียง 73 วินาที นั้นยังตราตรึง

        เหนืออื่นใดการระเบิดของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ เป็นรอยบาดลึกในประวัติศาสตร์ด้านกิจการอวกาศขององค์การนาซาที่ไม่มีวันลบเลือน และถูกจารึกไว้ในฐานะการสูญเสียนักบินอวกาศเป็นครั้งแรกในปฏิบัติการด้านอวกาศ

        วันนี้ในอดีต 28 มกราคม 2529 ในขณะที่ยานชาเลนเจอร์ระเบิดนั้น  แคปซูลห้องนักบินที่มีนักบินอวกาศนั่งอยู่นั้นได้หลุดออกจากตัวยาน ก่อนจะตกลงมาจากความสูงเกือบ 15 กิโลเมตรเป็นเวลา 2 นาทีเศษก่อนที่จะกระทบผิวน้ำด้วยความเร็วสูง ทั้งๆ ที่นักบินอวกาศทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่

        32 ปีโศกนาฏกรรมยานชาเลนเจอร์ ทำให้นักบินอวกาศเสียชีวิตในเหตุการณ์ได้แก่ ดิ๊ก สโคบี, มิเชล สมิธ, เอลลิสัน โอนิซูกะ, จูดิธ เรสนิค, โรนัดล์ แมคแนร์, เกรกอรี จาร์วิส และ คริสนิตา แมคคอลิฟ

          ว่ากันว่า ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับ "นักบินอวกาศคริสตินา แมคคอลิฟ"เป็นพิเศษ เนื่องจากเธอเป็นบุคคลตัวอย่างของชาวอเมริกัน ในการใช้ความพยายามเดินตามความฝันจนถึงที่สุด เพราะก่อนหน้าที่เธอจะเป็นนักบินอวกาศนั้น “คริสตินา แมคคอลิฟ” ได้ทำงานเป็นครูในโรงเรียนประถม และเธอได้ตั้งเป้าหมายของชีวิตว่าจะสอนเด็กนักเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์จากอวกาศให้จงได้

         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับยานชาเลนเจอร์ นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ ที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาพความเย็นของอากาศที่ทำให้ชิ้นยางวงแหวน (โอริง) ที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดขับดันหลักด้านขวาขาดประสิทธิภาพในการยืดหยุ่น ทำให้แก๊สร้อนรั่วไหลออกมากระทบกับถังเชื้อเพลิงหลักสีส้มขนาดใหญ่ ที่ติดตั้งคั่นระหว่างจรวดขับดันทั้งสอง ทำให้เกิดการระเบิดที่ฉีกตัวยานและจรวดเป็นชิ้นๆ

         ก่อนยานชาเลนเจอร์ระเบิดกลางอากาศ เคยเกิดเหตุการณ์ถังออกซิเจนยานอวกาศอะพอลโล 13 ระเบิดในอวกาศ ระหว่างเดินทางไปยังดวงจันทร์ เมื่อปี 2513 แต่ผู้เชี่ยวชาญของนาซาและนักบินอวกาศนำโดย“นายจิม โลเวลล์”ยังสามารถรักษาชีวิต“นักบินอวกาศ” ทั้งหมดกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางการลุ้นระทึกของประชาชนทั่วโลกที่ส่งใจไปช่วย

         ไม่เพียงเท่านั้น เหตุ "ยานโคลัมเบียระเบิด" ก็ได้ให้บทเรียนราคาแพงแก่นาซา ทำให้การดำเนินโครงการอวกาศทุกโครงการ มีความรัดกุมมากขึ้น และไม่มีการรีบเร่งเช่นเดียวกับอดีต จนรัฐบาลสหรัฐฯยุค “นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช” ได้ตัดงบประมาณโครงการอวกาศของนาซาลงอย่างมาก บีบบังคับให้นาซาต้องพัฒนายานรุ่นใหม่ที่มีราคาถูก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมดทุกชิ้นส่วน ทั้งยังสามารถผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น

         ที่สำคัญนาซาได้ใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นกับยานชาเลนเจอร์ รวมทั้งยานโคลัมเบียที่เกิดระเบิดระหว่างร่อนลงสู่โลก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ในการออกแบบยานรุ่นใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุผิดปกติลงไปได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียนักบินอวกาศที่เป็นทรัพยากรล้ำค่าของนาซา อีกต่อไป

          โศกนาฏกรรมยานชาเลนเจอร์ นับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดที่เกิดกับโครงการขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ และทำให้สหรัฐฯหยุดโครงการขนส่งอวกาศของสหรัฐฯและทำให้สหรัฐฯหยุดโครงการอวกาศทั้งหมดไปนานเกือบ 3 ปี

-------//--------

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ