วันนี้ในอดีต

6 พ.ย. 2540 ต้มยำกุ้งเป็นพิษ บิ๊กจิ๋วประกาศลาออกจากนายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนั้นนายกฯ จิ๋ว บอกว่าจะมาแก้วิกฤติกับคำขวัญ “ถึงเวลาอยู่ดีกินดี" แต่แล้วผลกลับ "ตรงข้าม" และแน่นอนชายชาติทหารผู้นี้ ก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ใช่มั้ย!

           วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน คือวันที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจประกาศลาออกจากความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไทย

           และไม่ใช่เพราะสาเหตุอะไร นอกจากแรงกดดันจากผลสืบเนื่องของวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่สะท้อนการบริหารงานที่หลายคนใช้คำว่า “ล้มเหลว!”

           ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ได้เกิดเหตุประชาชนชาวไทย กว่า 5,000 คน ชุมนุมบริเวณถนนสีลมเพื่อเรียกร้องให้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

           โดยระบุ ว่าเป็นเพราะการบริหารผิดพลาด ประกาศลอยตัวเงินบาท ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน ราคาสินทรัพย์อื่น ๆ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 

           จนบานปลายกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจกินวงกว้าง ส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย จนหลายคนเรียกวิฤติฯ ครั้งนี้ว่า “ฟองสบู่แตก” หรือ “ต้มยำกุ้งดีซีส” (Tomyamkung disease)

           ย้อนรอยไปต้นเรื่อง คงจำกันได้ หลังจากที่ “บิ๊กจิ๋ว” ที่เบนเส้นทางจากทหารมาสู่ถนนการเมือง และได้ชื่อว่า “รุ่งสุดๆ” เพราะยังเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่ขณะดำรงตำแหน่งทางทหาร กระทั่งตัดสินใจก่อตั้ง และนั่งเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่คนแรก และยังมีคะแนนเสียงหนาแน่นใน จ.นครพนม

           พอมาปลายปี 2539 พล.อ.ชวลิต นำพาพรรคความหวังใหม่ชนะเลือกตั้ง และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สมใจ โดยมีพรรคชาติไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ รวมตัวกันในซีกฝ่ายค้าน

           วันนั้นบิ๊กจิ๋วบอกว่าจะมาแก้วิกฤติ กับคำขวัญ “ถึงเวลาอยู่ดีกินดี” โดยมี อำนวย วีรวรรณ เป็นหัวหน้าดรีมทีมเศรษฐกิจ และ ดร.ทนง พิทยะ

           แต่แล้วใครจะคาดคิด เมื่อ ดร.ทนง พิทนะ รัฐมนตรีคลังขณะนั้น ยื่นเอกสารลอยตัวค่าเงินบาทให้บิ๊กจิ๋วเซ็นแกร๊ก! ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จนสร้างความเสียหายกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น

           จริงอยู่ที่หลายคน หลายฝ่าย พยายามหาต้นเหตุที่แท้จริงของเรืองนี้ เพราะว่ากันว่า วิกฤติครั้งนี้ ใครนั่งนายกฯเวลานั้นก็ต้องเซ็นแบบนั้น!

           โดยหากย้อนไปก่อนหน้านั้น ราวปี 2536 รัฐบาลไทยประกาศนโยบาย BIBF (Bangkok International Banking Facilities) มีเป้าหมายเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค

           สิ่งที่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือ จากที่เคยควบคุมเงินที่ไหลเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด กลายเป็นเสรี ที่ใครจะย้ายจะโอนเงินเข้าหรือออกจากประเทศไทยได้เต็มที่

           ซึ่ง ณ ขณะนั้น ดอกเบี้ยเงินกู้ในสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ในไทย อยู่ในอัตราที่สูง ประมาณ 14-17% ต่อปี แต่อีกฟากหนึ่ง ดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินของต่างชาติ เวลานั้นถูกมากแค่ 5%

           ผลคือคนไทยแห่กันไปกู้เงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศแทน โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนเงินหนา เล็งผลไกล ที่กู้เงินมาก็เพื่อนำมาปล่อยกู้ต่ออีกทอดในประเทศไทย ด้วยดอกเบี้ยสูงกว่าราว 8-10% ซึ่งแค่นี้กำไรก็ล้นหน้าตักแล้ว

          ขณะที่ยังมีส่วนอื่นที่กู้มาเพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้น หรือลงทุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ พูดง่ายๆ ว่าช่วงนั้น คนมีเงินยิ่งรวยเอาๆ หาเงินได้มาง่ายดายเป็นอันมาก รวยกันไม่รู้เรื่อง! เหมือนฟองสบู่! ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างดำเนินอยู่ภายใต้การคงตัวค่าเงินบาทไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

           แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า สิ่งนี้ได้ทำให้พ่อมดการเงิน จอร์จ โซรอส ซึ่งกำลังเปิดเรดาร์หาทางรวย มาเจอะกับประเทศไทยพอดิบพอดี!

           พบว่าคนไทยกำลังกู้เงินต่างชาติมาชนิดกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ และด้วยความเก๋าเกมที่รู้ว่าการปล่อยกู้ครั้งนั้น เป็นการให้กู้ระยะสั้นแค่ 5 ปี แต่หลังจากนั้น ลูกหนี้ไทยจะต้องใช้คืนทั้งต้นและดอก

           ถึงตอนนี้เอง คนไทยก็จะต้องวิ่งหาที่แลกเงินดอลลาร์มาใช้หนี้กันให้ฝุ่นตลบ เนื่องจากกู้มาเป็นดอลลาร์ก็ต้องใช้คืนเป็นดอลลาร์

           กองทุนของเขา ซึ่งหมายถึง กองทุนส่วนบุคคล หรือ “เฮดจ์ฟันด์” จึงเลือกเข้ามาเก็งกำไรที่ประเทศไทย ให้แมลงเม่าคนไทยแห่มาแลกเงินกับเขานั่นเอง

           นั่นจึงเกิดเป็น “การโจมตีค่าเงินบาทของไทย” ในที่สุด โดยพ่อมดการเงินคนนี้ ก็กำหนดราคาขายดอลลาร์ให้ไทยในราคา 1 ดอลลาร์เท่ากับ 50 บาท!!! ในขณะที่คนไทยเคยไปกู้เขามาตอนที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท

           ยิ่งเมื่อบวกกับตัวเลขการส่งออกของไทยที่ทยอยหยุดโต และการขาดดุลการค้ามหาศาล ยิ่งชัดเลยว่า โลงศพมาตั้งตรงหน้าประเทศไทยแล้ว!

           ผลคือไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด!! และกว่าคนไทยจะรู้ตัวว่า การเปิดเสรีทางการเงินที่เกิดจากความไม่พร้อม ได้นำมาซึ่งวิกฤติการณ์การเงิน ระเบิดตูมเอาตอนยุคของนายกรัฐมนตรีไทยที่ชื่อว่า ชวลิต ยงใจยุทธ พอดี

          แน่นอนสิ่งนี้ส่งผลกระทบทางการเมือง จนเขาต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540

           และชีวิตก็เหมือนดั่งละคร ที่สุดบิ๊กจิ๋วกลับมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี 2544 และมานั่งรองนายกฯ ให้แก่ "นายกรัฐมนตรีคนที่ 23" ผู้เคยนั่งรองนายกฯ ให้เขามาแล้วก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง

           ชื่อของเขาคือ ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง!

           ที่เหลือหลังจากนั้น คนไทยรู้ดีว่าอะไรเกิดขึ้นมาจนถึงวันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ