
กัมพูชาไม่สะดวกจัดเพาะกาย'ซีเกมส์'-สหพันธ์ฯลุยเองมอบอินโดนีเซียเจ้าภาพ
สหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก เดินหน้าจัดการแข่งขัน "เพาะกายและฟิตเนสชิงแชมป์อาเซียน " โดยมีประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ กำหนดจัด 8-12 มิ.ย. เผยที่มาในการจัดแข่งขันเพาะกายรายการนี้ เพื่อทดแทนกรณีที่กัมพูชาเจ้าภาพ"ซีเกมส์" ตัดกีฬาชนิดนี้ออกจากการแข่งขัน
สหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) มอบหมายให้อินโดนีเซีย เป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนสชิงแชมป์อาเซียน ครั้งที่ 17 เพื่อทดแทนการแข่งขันกีฬาเพาะกายในกีฬา "ซีเกมส์ "ครั้งที่ 32 ซึ่งกัมพูชาประเทศเจ้าภาพ ไม่พร้อมจัดการแข่งขันในกีฬา"ซีเกมส์ 2023" สำหรับไทย สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย จะส่งนักกีฬาชุดเตรียมซีเกมส์ เข้าแข่งขันชิงแชมป์อาเซียนที่ประเทศอินโนนีเซีย
ศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขาธิการร่วมของสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) เปิดเผยว่า สหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) ได้มีมติเห็นชอบให้สหพันธ์กีฬาเพาะกายประเทศอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาเพาะกายชิงแชมป์อาเซียน เพื่อทดแทนกรณี"ซีเกมส์ 2023" ประเทศกัมพูชาเจ้าภาพ"ซีเกมส์"ไม่ได้บรรจุเพาะกายไว้ในการแข่งขัน
เพาะกายชิงแชมป์อาเซียน ครั้งที่ 17 กำหนดจัดการแข่งขัน 8-12 มิ.ย. และขณะนี้ได้มีการแจ้งไปยังประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบถึงกำหนดการแข่งขันในครั้งนี้แล้ว สำหรับในส่วนประเทศไทยทางสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย จะส่งนักกีฬาชุดเตรียมซีเกมส์ที่ได้มีการเก็บตัวฝึกซ้อม เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์อาเซียนในครั้งนี้
โดยขณะนี้สมาคมได้ทำหนังสือถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) ผ่านไปยังคณะกรรมการกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการส่งนักกีฬาเพาะกายของไทยเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์อาเซียน ทั้งนี้การส่งนักกีฬาเข้าร่วมดังกล่าว เพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนานักกีฬาเพาะกายของไทย ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระดับนานาชาติอีกทั้งยังเป็นการเตรียมนักกีฬาของไทยสำหรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2568 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ศุกรีย์ กล่าว
กัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 32 แข่งขัน 5-17 พ.ค. ได้ตัดกีฬาเพาะกาย ออกจากการแข่งขันซีเกมส์ เนื่องจากปัญหาภายในประเทศ โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กัมพูชา (CAMSOC) ได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโอลิมปิคในชาติอาเซียนทราบ ถึงการยกเลิกการจัดการแข่งขันเพาะกาย โดยปัญหาเบื้องต้นที่กัมพูชางดจัดชนิดกีฬาเพาะกายในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เนื่องจากข้อขัดข้องภายในประเทศของกัมพูชา ซึ่งสหพันธ์กีฬาเพาะกายของประเทศกัมพูชาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการควบคุมสารต้องห้ามในนักกีฬา
สืบเนื่องมาตั้งแต่การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ครั้งนั้นกัมพูชาเตรียมส่งนักกีฬา4 คน เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ไม่สามารถส่งเข้าร่วมการแข่งขันได้ เพราะติดปัญหาเรื่องการตรวจพบใช้สารต้องห้าม ทำให้ทางกัมพูชางดส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับกีฬาเพาะกาย ต้องตรวจหาสารกระตุ้นก่อนแข่ง 3 สัปดาห์ ถ้าหากชาติใดพบสารกระตุ้น จะไม่สามารถส่งนักกีฬาแข่งขันได้ เช่นเดียวกับการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม เป็นเจ้าภาพมีหลายชาติ ที่ตรวจพบการใช้สารต้องห้าม ทำให้ต้องถอนตัวไม่สามารถมาแข่งได้
กรณีกัมพูชา ซึ่งส่งนักกีฬาแข่งขัน 4 คน แต่พบปัญหาสารกระตุ้นในตัวนักกีฬา ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาแข่งซีเกมส์ที่เวียดนาม ทำให้ทางรัฐบาลกัมพูชา โดยกระทรวงกีฬาของกัมพูชา ได้ให้ทางสมาคมเพาะกายกัมพูชาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ปัญหาก็ไม่ลุล่วง และกลายเป็นประเด็นต่อเนื่องมาจนถึง ซีเกมส์ ที่กัมพูชา ทำหน้าที่เจ้าภาพ ซึ่งเดิมทีเพาะกายในกีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชากำหนดแข่งขัน ทั้งหมด 5 รุ่น
กัมพูชาได้มีการหารือเป็นการภายในระหว่างรัฐบาล กับทางสมาคมเพาะกายกัมพูชาในการที่จะป้องกันไม่ให้มีการละเมิดการใช้สารต้องห้ามเกิดขึ้นกับนักกีฬา ซึ่งทางสมาคมเพาะกายกัมพูชารับปากว่าจะมีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ แต่เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมามีแข่งกีฬาเพาะกายในประเทศ เป็นการแข่งขันกีฬาแห่งชาติกัมพูชา ก็พบว่านักกีฬามีการใช้สารกระตุ้นอีก แสดงให้เห็นว่า ทางสมาคมเพาะกายกัมพูชา ไม่สามารถสร้างหลักประกันกับทางรัฐบาลว่า จะไม่พบปัญหาการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬา จึงเป็นที่มาของการยกเลิกจัดการแข่งขันเพาะกายในซีเกมส์ เพื่อไม่ให้เจ้าภาพเสื่อมเสีย
ภาพประกอบจาก สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย