ข่าว

ถ่ายทอดสด"ฟุตบอลโลก 2022" 25 วัน ของการเจรจา-"กกท."ยิ้มต่อรองราคาสำเร็จ

22 พ.ย. 2565

"คมชัดลึก" เปิดเส้นทางการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด"ฟุตบอลโลก2022" โดย กกท. ที่รับหน้าที่เป็นแม่งาน สามารถดีลสำเร็จในแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ผู้ว่าการ กกท. ดร.ก้องศักด ยอดมณี ย้ำราคา 1,200 ล้านบาท รอบนี้ ถือว่าทุ่นไปได้เยอะ เมื่อเทียบสมัยเจรจาซื้อลิขสิทธิ์"รัสเซีย 2018"

"เราทำงานกันอย่างหนักตลอด  3 - 4 สัปดาห์ ที่ผ่านมา    กระทั่งสามารถเจรจากับทางตัวแทนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า" จนได้ราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022"   หรือ กาตาร์ 2022 ลงตัวที่  33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,200 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่าภาษีและการดำเนินการต่าง  ๆ ด้วย ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท   หากเทียบกับครั้งเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2018"  ครั้งนั้น  ประเทศรัสเซีย  เป็นเจ้าภาพ  เราใช้จ่ายไปเพื่อการนี้  รวม  1,400    ล้านบาท "

 

 

"ดังนั้นราคาที่ได้มาครั้งนี้   "ฟุตบอลโลก 2022 "  ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด  คือ  1,200  ล้านบาท    หากเทียบกันแล้วเท่ากับว่า เราประหยัดไปได้   200  ล้านบาท  ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ต้องขอบคุณผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก  ทั้งในส่วนภาครัฐ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ,กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ   ตลอดไปจนถึงภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุน  "  ดร.ก้องศักด  ยอดมณี  ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย  ( กกท. )  20  พฤศจิกายน  :  เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ 
 

 

 

 

บทสรุปส่วนหนึ่งระหว่างการ   แถลงข่าว "ฟีฟ่า เวิลด์คัพ กาตาร์ 2022  ถ่ายทอดสดทุกแมตช์ เชียร์ให้สนั่น  รับชมฟรีทั่วไทย"  ซึ่ง   การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ   ประกาศวามพร้อมต่อการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022    โดยกกท. ในฐานะหน่วยงานกลาง ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล  โดย  พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการ การกีฬาแห่งประเทศไทย  ,  ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

 

 

 มอบหมายให้  ดร.ก้องศักด  ยอดมณี  ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย  ( กกท. )  ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย   เพื่อให้การถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022"   ดำเนินการไปได้ตามเป้าหมาย  อันหมายถึงการรับชมถ่ายทอดสด  ผ่านสถานีโทรทัศน์ รวม 64   นัด   หรือ นับจากเริ่มต้นการแข่งขัน  ไปจนถึงนัดสุดท้าย หรือ นัดชิงชนะเลิศ วันอาทิตย์ที่ 18  ธันวาคม

 

 

 

หากย้อนไปยังการถ่ายทอดสด"ฟุตบอลโลก2018" หรือ  " รัสเซีย2018"   ซึ่งมีประเทศรัสเซีย เป็นเจ้าภาพ  ครั้งนั้นการเจรจา เพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก อยู่ในบรรยากาศ  ที่แทบไม่ต่างไปจาก ฟุตบอลโลก 2022  คือ ต้องล้มลุกคลุกคลาน กระทั่งทุกอย่างลงตัวที่สุด ซึ่งฟุตบอลโลก  2018  การดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาณการถ่ายทอดสด  เป็นความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  และองค์กรธุรกิจภาคเอกชน

 

 

คือ   บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด หรือ ช้าง, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส  และ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล    โดยมี  การกีฬาแห่งประเทศไทย   ในสมัยของ สกล วรรณพงษ์  ทำหน้าที่ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย   เป็นผู้ประสานงาน

 

บรรยากาศ  เมื่อครั้งฟุตบอลโลก 2018  ที่ประเทศรัสเซีย  :

 

 ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  และ  พิพัฒน์  รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ครั้งนั้นวงเงินลงทุนในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก คือ 1,400 ล้านบาท  กกท. ทำหน้าที่ผู้ประสานงานการสนับสนุน  ส่วนภาคเอกชนที่เป็นแกนหลักการเจรจา คือ  บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล  จำกัด 

 

 


อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น ความขลุกขลักก็มีขึ้น  คิงเพาเวอร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนเจรจาในระยะแรก ได้รับแจ้งถึงนโยบายข้อกำหนดของ  สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ "ฟีฟ่า" ว่า จะเจรจาและลงนามในสัญญา เฉพาะกับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจบรอดแคสติ้ง( สถานีโทรทัศน์ / ถ่ายทอดสด) เท่านั้น ซึ่งในเวลาที่กระชั้นชิด เพื่อให้ฟีฟ่าอนุมัติได้รวดเร็ว   เอกชนที่เข้ามาทำหน้าที่ จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลก   ภารกิจจาก " คิงเพาเวอร์"จึงไปตกอยู่กับ บริษัททรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเจรจา และลงนามในสัญญา   เป็นการรับชม ครบทั้ง 64 แมตช์ ผ่าน ทรูโฟร์ยู ช่อง 24, อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 และช่อง 5 

 

 

 

"  ครั้งนี้ที่เป็นความต่างก็คือ การได้ถ่ายทอดสดทั้ง 17   สถานี  ส่วนที่ประเด็นเรื่องของการไม่ทั่วถึง  หรือ ไม่เท่าเทียม  ระหว่างสถานีโทรทัศน์ด้วยกัน ในการถ่ายทอดสด  ก็เป็นประเด็นที่จะหารือกันต่อไป  สิ่งที่ผมให้ความมั่นใจได้ก็คือ ราคาในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด  เป็นราคาที่สอดคล้อง ได้พยายามต่อรอง   กระทั่งได้ราคานี้มาในที่สุดคือ 1,200  ล้านบาท   ราคาของไทย  เท่ากับ  อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์  ซึ่งต่างเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่   ส่วนที่เวียดนามได้ในราคาที่ถูกกว่าไทย   เนื่องจากเวียดนาม  เจรจามาตั้งแต่ปี 2019  ทำให้ได้ราคาในขณะนั้น  หรือ แม้แต่มาเลเซีย  ที่ได้ราคาถูกกว่าไทย  แต่การถ่ายทอดก็ได้ไปไม่ครบทุกนัด"   ดร.ก้องศักด ผู้ว่าการ กกท. ระบุ

 

 

การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. )  รับมอบภารกิจ ในการเจรจาถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก  จากภาครัฐ ตั้งแต่ 27  ตุลาคม ที่ผ่าน และบรรลุความสำเร็จ ในการประกาศความพร้อมต่อการถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก"  วันที่  20  พฤศจิกายน  เป็น    25   วัน  กับการตกผลึกในภารกิจ "ฟุตบอลโลก 2022"  ถ่ายทอดสด 64  นัด เป็นการคิกออฟถ่ายทอดสดในประเทศไทย พร้อมกับพิธีเปิดการแข่งขันที่เริ่มมาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 

 

ดร.ก้องศักด ยอดมณี  ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย บรรยากาศในการเปิดตัว  "ฟีฟ่า เวิลด์คัพ กาตาร์ 2022  ถ่ายทอดสดทุกแมตช์ เชียร์ให้สนั่น  รับชมฟรีทั่วไทย"  ซึ่ง   การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ