ข่าว

ศึก "ยูโร 2020" เกิดอะไรขึ้นกับ 'อิริคเซ่น' จะช่วยชีวิตนักกีฬาอย่างไรระหว่างแข่งขัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกิดอะไรขึ้นกับ 'คริสเตียน อิริคเซ่น' หลังเจ้าตัวเกิดอาการฟุบ วูบหมดสติกลางสนามช่วงนาทีที่ 41 ระหว่างเกม "ยูโร 2020" (Euro 2020) นัดแรกกลุ่มบี เมื่อคืนที่ผ่านมา

ทำเอาแฟนบอลทั่วโลกช็อกไปตามๆ กัน หลังจากที่ 'คริสเตียน อิริคเซ่น' จอมทัพทีมชาติเดนมาร์ก เกิดอาการฟุบ วูบหมดสติกลางสนามช่วงนาทีที่ 41 ระหว่างเกม "ยูโร 2020" (Euro 2020) นัดแรกกลุ่มบี ที่ทัพโคนมพ่ายต่อฟินแลนด์ไป 0-1 เมื่อคืนที่ผ่านมา 

อ่านข่าว : ฟุตบอล"ยูโร2020"วุ่นมิดฟิลด์เดนมาร์กวูบคาสนาม - ล่าสุดอาการปลอดภัย

 

โดย 'คริสเตียน อิริคเซ่น' นั้นหลังจากที่เจ้าตัวจะวิ่งไปรับบอลทุ่มจากเพื่อนร่วมทีม แต่จู่ๆ ก็มีอาการก่อนจะค่อยๆ ฟุบลง หมดสติและเริ่มมีอาการชักเกร็ง ซึ่งกัปตันทีม 'ซิมง เคียร์' ปรี่เข้าไปดูอาการไม่ให้ 'อิริคเซ่น' ลิ้นจุกปาก และผู้ติดสิน แอนโทนี่ เทย์เลอร์ จะเรียกทีมแพทย์เข้ามาปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

 

ซึ่งบรรยากาศในสนามตอนนั้นทุกคนอยู่ในความสงบ และระหว่างปฐมพยาบาล CPR ปั๊มหัวใจช่วยชีวิต 'คริสเตียน อิริคเซ่น' มีเพื่อนๆร่วมทีมชาติเดนมาร์กมายืนล้อมรอบทีมแพทย์เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของ 'อิริคเซ่น' ไม่ให้มีภาพที่สะเทือนใจเผยแพร่ออกไป 

 

นอกจากนี้แฟนบอลทั้งเดนมาร์ก และ ฟินแลนด์ ในสนามพาร์เคน สเตเดี้ยม ในกรุงโคเปนเฮเก้น ที่พยายามคอยส่งเสียงเรียกชื่อของดาวเตะจากอินเตอร์ มิลานเป็นระยะๆ ให้ได้สติกลับคืนมา มีแฟนบอลฟินแลนด์ในโยนธงผืนใหญ่ลงมาในสนาม เพื่อมาใช้เป็นฉากกั้นระหว่างที่ทีมแพทย์ปฐมพยาบาลช่วยชีวิต อิริคเซ่น ด้วย เป็นภาพประทับใจที่ถูกเผยแพร่สู่สายตาทั่วโลก

 

ต่อมาในโลกออนไลน์ นักฟุตบอล เพื่อนร่วมอาชีพ รวมถึงแฟนกีฬาจากทั่วโลก ต่างก็ส่งข้อความอวยพร ส่งใจภาวนาเพื่อขอให้ อิริคเซ่น ปลอดภัย ซึ่งทีมแพทย์ในสนามใช้เวลาอยู่พักใหญ่ ก่อนจะนำตัว อิริคเซ่น ส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน


 

 

ซึ่งเกมการแข่งขันระหว่าง เดนมาร์ก กับ ฟินแลนด์ ต้องหยุดไปชั่วขณะ จนกระทั่งทางสมาคมฟุตบอลเดนมาร์กรวมถึงยูฟ่าก็ได้ออกมาอัปเดตอาการของ อิริคเซ่น ว่าเจ้าตัวรู้สึกตัวแล้วและมีอาการทรงตัวและอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมแพทย์ในเมืองโคเปนเฮเก้น ก่อนที่เกมจะกลับมาแข่งขันกันต่อในช่วง 01.30 น. ตามเวลาประเทศไทย

 

ด้าน ฟาบริซิโอ โรมาโน่ นักข่าวชื่อดังก็ได้ออกมาทวิตฯข้อความเปิดเผยว่าอิริคเซ่น นั้นสามารถพูดคุยกับญาติได้แล้วและมีอาการที่ดีขึ้น มีการเฟซไทม์ (Facetime) จากโรงพยาบาลคุยกับเพื่อนร่วมทีมและขอให้เพื่อนๆ ลงไปทำการแข่งขันต่อ

 

อ่านข่าว : เดนมาร์ก คอนเฟิร์ม"คริสเตียน อีริคเซ่น"ปลอดภัย -ฟินแลนด์ ยูฟ่า ร่วมให้กำลังใจ

 

อ่านข่าว : วงการฟุตบอลร่วมให้กำลังใจ"คริสเตียน อีริคเซ่น"

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจได้โพสต์เฟซบุ๊กพูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับ 'คริสเตียน อิริคเซ่น' ว่า คำถามที่หลายคนคงอยากทราบคือมันเกิดอะไรขึ้น คนที่ดูแข็งแรงเป็นนักกีฬาทำไมอยู่ดีๆ หัวใจหยุดเต้นได้

 

ภาวะหัวใจหยุดเต้นจนเสียชีวิตกระทันหันในนักกีฬาพบได้ราว 1-2 ในแสนราย สาเหตุเป็นได้ตั้งแต่โรคหัวใจที่พยาธิสภาพชัดเจน (structural heart disease) , และจากสาเหตุที่ ไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่ชัดเจน (non structural heart disease)

 

โดยทั่วไป โรคหัวใจที่มีพยาธิสภาพชัดเจน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic cardio myopathy) , โรคหัวใจโต (Dilated cardiomyopathy) , โรคลิ้นหัวใจพิการ (valvular heart disease)

 

นักกีฬาอาชีพเหล่านี้จะมีการ screen หาอย่างดีแล้ว ไม่น่าพลาด แต่อาจมีพยาธิสภาพบางอย่างที่ตรวจหายากต้องใช้การตรวจพิเศษเฉพาะ ได้แก่ โรคความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ เช่น  Anomalous coronary artery disease  โรคทางเดินหลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ไปเดินลอดระหว่าง หลอดเลือดใหญ่ 2 เส้น (pulmonary artery / aorta) 

 

ทำให้โดนบีบรัดเวลาออกแรง หรือในนักกีฬาที่เริ่มมีอายุ ก็อาจมีโรคผนังหลอดเลือดหัวใจแข็ง atherosclerosis ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง อย่างไขมันในเลือดสูง แต่นอกจากโรคที่สามารถตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้างหัวใจเหล่านี้ยังมีโรคที่เป็นความผิดปกติทางระบบไฟฟ้าซึ่งไม่อาจตรวจพบโดยการใช้วิธีตรวจทั่วไปอย่าง ตรวจ echo CT หรือ MRI ได้

 

เช่น โรคไหลตาย หรือความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น potassium magnesium ในเลือดต่ำมากๆ นอกจากนี้ยังมีภาวะ Commotio cordis ซึ่งเกิดจากการกระทบกระแทกบนทรวงอกอย่างรุนแรงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในหัวใจ

 

ภาวะนี้พบได้ในนักกีฬาอายุน้อยๆ แม้เป็นเหตุการที่เกิดไม่บ่อย แต่มันจะเป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น ท่ามกลางคนดูนับหมื่น การเตรียมพร้อมของสนามแข่งในการช่วยฟื้นคืนชีพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จะต้องมีบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถในการทำ CPR และมีเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ AED เตรียมพร้อมเสมอ

 

สำหรับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ มากนัก กรณีนักฟุตบอลเกิดอาการวูบหมดสติกลางสนาม ที่เราจำได้ติดตาจนถึงทุกวันนี้ คือ 2 เหตุการณ์ใหญ่ ๆ อย่างในปี 2003 ในศึกฟุตบอล คอนเฟเดอเรชันส์ คัพที่ มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ วัย 28 ปี ที่ล้มหมดสติและเสียชีวิตบริเวณกลางสนามในเกมรอบรองชนะเลิศที่แคมเมอรูนพบกับโคลอมเบีย

 

หรือในปี 2007 ที่ อันโตนิโอ ปูเอร์ต้า ดาวเตะชาวสเปนของทีมเซบีญ่า ที่วูบกลางสนามนำตัวส่งโรงพยาบาลก่อนจะเสียชีวิตลงด้วยภาวะหัวใจวายในวัยเพียง 22 ปีเท่านั้น

 

โดยมีการเปิดเผยว่า เคสดังกล่าวในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาพบเพียง 1 ใน 50,000 ถึง 1 ใน 300,000 รายเท่านั้น แต่เนื่องจากนักกีฬาเหล่านี้อายุยังน้อยมีอนาคตที่จะสร้างชื่อเสียงในวงการกีฬาให้กับทีมต้นสังกัดหรือเป็นตัวแทนทีมชาติ หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องที่สะเทือนใจมาก ๆ

 

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเสียชีวิต หรือ Sudden Cardiac Death (SCD) มักเกิดจากปัญหาของหัวใจ จากการรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุน้อยกว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,400 รายพบว่า 

 

- 36% มีสาเหตุมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) 

 

- 17% มีสาเหตุมาจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Anomalous Origin of A Coronary Artery) 

 

- 4% มีสาเหตุมาจากระบบนำคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 

 

ป้องกันนักกีฬาเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างไร

 

สิ่งสำคัญ คือ การตรวจคัดกรองสุขภาพหัวใจของนักกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาที่มีโปรแกรมการแข่งขันหรือต้องฝึกซ้อมอย่างหนักต่อเนื่อง การคัดกรองปัญหาของหัวใจต้องพิจารณาจากประวัติของนักกีฬาระหว่างการเล่นกีฬามาก่อน เช่น หน้ามืด หมดสติ ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น 

 

การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือ Echocardiogram เพื่อประเมินความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ

 

AED ช่วยชีวิตนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน

 

ปัจจุบันมีอุปกรณ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ เรียกว่า AED (Automated External Defibrillator) ซึ่งหลักการจะคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ใช้ในโรงพยาบาล 

 

เครื่อง AED มีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย การใช้งานจะมีแผ่นนำไฟฟ้ามาแปะไว้ที่ทรวงอกของผู้ป่วย จากนั้นเครื่องจะวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ตรวจพบแล้ว 

 

โดยจะบอกทันทีว่าผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะหรือไม่ มีเสียงพูดออกมาชัดเจน หากจำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าก็สามารถทำได้ง่ายเพียงกดปุ่มที่เครื่อง บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาลแต่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วสามารถใช้เครื่องนี้ได้ ปัจจุบันในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง รวมทั้งสนามกีฬานานาชาติชั้นนำมักจะมีเครื่องนี้ติดตั้งกันไว้แล้ว

 

สิ่งสำคัญในการช่วยชีวิตระหว่างการแข่งขันคือ การเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ที่อยู่ข้างสนามให้พร้อม เพื่อจะได้รีบเข้าไปช่วยเหลือนักกีฬาได้ทันท่วงที หน่วยงานสากลอย่าง FIFA ให้ความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ข้างสนามให้พร้อมระหว่างการแข่งขันฟุตบอล 

 

สำหรับประเทศไทยการแข่งขันกีฬาอาชีพกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดเกณฑ์ความพร้อมทางการแพทย์ในสนามแข่งขัน เพราะถึงแม้ปัญหาลักษณะนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจหมายถึงชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบจากเฟซบุ๊ก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ , bangkokhearthospital

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ