ข่าว

9   เดือน  ต่อยอดความสำเร็จ  2 มือหวด สู่ตำแหน่งแชมป์แบดมินตันคู่ผสม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนเส้นทางความสำเร็จ 2 มือหวดลูกขนไก่ บาส -ปอป้อ ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับไทย หลังทำผลงานผงาดแชมป์แบดมินตันคู่ผสม โดยแรงขับเคลื่อนอยู่ที่ การทำงานหนักตลอด 9 เดือน ของทุกฝ่าย

“ภูมิใจที่สามารถคว้า แชมป์แบดมินตันคู่ผสม มาครองได้สำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตนักกีฬา ครั้งแรกของชีวิตตัวเอง   ที่ได้ 3 แชมป์ติดต่อกัน ประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันตลอด 3 รายการ คือการเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น  คือผลลัพธ์จากการทุ่มเท ฝึกซ้อมตลอด 9 เดือน จนสร้างชื่อให้กับประเทศไทย”   บาส เดชาพล พัววรานุเคราะห์ – ปอป้อ  ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่มืออันดับ 3 ของโลก    แชมป์แบดมินตันคู่ผสม :  31 มกราคม 2564

 

เป็นบทสรุปที่มาจาก    แชมป์แบดมินตันคู่ผสม "บาส"เดชาพล พัววรานุเคราะห์ - "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย   หลังจบการแข่งขันแบดมินตัน  ซูเปอร์ เวิลด์ทัวร์ 1000   ประกอบด้วย "โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น"  , "โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น" และ "เอชเอสบีซี บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2020" หรือ   "เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2020”

 

ความสำเร็จของ "บาส"เดชาพล  และ "ปอป้อ"  ทรัพย์สิรี  แชมป์แบดมินตันคู่ผสม  มีฉากหลังอยู่ที่ การทำงานหนักของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตลอด 9 เดือน   ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันทั้ง 3 รายการ  ทั้งนี้ “บาส”เดชาพล  และ “ปอป้อ”  ทรัพย์สิรี    คือนักกีฬาแบดมินตัน ในสังกัด “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่”

  9   เดือน  ต่อยอดความสำเร็จ  2 มือหวด สู่ตำแหน่งแชมป์แบดมินตันคู่ผสม

 

"ช่วงที่แบดมินตันแข่งขันไม่ได้ เพราะโควิด 19 รวม 9 เดือน เป็นช่วงเวลา ที่เราต้องใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ในการพัฒนาให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กับนักกีฬาเพื่อนำไปต่อยอด ให้เขารู้และเข้าใจไปกับเรา มีการศึกษาแนวทางการเล่นของคู่ต่อสู้ จำลองสถานการณ์เกม ให้คล้ายกับสถานการณ์ในสนามให้ได้มากที่สุด เพื่อลบจุดอ่อนและอัพเกรดจุดแข็ง ถือว่าเป็น  9 เดือน ที่ทุกคน ทำงานกันตลอดเวลา เพื่อสร้างความพร้อม"   เทศนา พันธ์วิศวาส  (โค้ชโอม )  หัวหน้าผู้ฝึกสอนกีฬาแบดมินตัน  ระบุ

 

เขา กล่าวว่า    ข้อดีของ  9   เดือน ที่วงการกีฬาหยุดไป  คือการทำให้มีเวลาที่จะพัฒนาได้มากขึ้น   เพราะหากเป็นช่วงเวลาปกติ   แน่นอนว่าเวลาเหล่านี้ แทบจะไม่มี  เพราะเป็นช่วงที่นักกีฬาต้องออกทัวร์แข่งขันตลอดเวลา   “ในมุมของผม ทั้งสองคนมีพัฒนาการที่ดีมาก  ทั้งในเรื่องของร่างกายและเทคนิค  

 

“ ที่ต้องชื่นชมคือระเบียบวินัย ทั้งคู่รู้ดีว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร แม้ว่าช่วงโควิด  ระบาดหนัก ซึ่งเราจำเป็นต้องปรับรูปแบบการฝึกซ้อมให้สอดคล้อง  โดยปล่อยนักกีฬากลับบ้าน ไม่สามารถพักที่แคมป์ของเอสซีจี อะคาเดมี่ได้   ซึ่งหลังจากมาตรการเริ่มผ่อนคลาย ทั้งคู่ก็ไม่เคยขาดซ้อม ซ้อมอย่างเต็มที่ แลกเปลี่ยนแนวทางกับโค้ชและทีมงานแบบเปิดเผย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ” เทศนา กล่าว

 

  9   เดือน  ต่อยอดความสำเร็จ  2 มือหวด สู่ตำแหน่งแชมป์แบดมินตันคู่ผสม

 

ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬา เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่ กล่าวว่า ช่วง 9 เดือน   ทุกคนทำงานกันอย่างหนัก   ทั้งทฤษฎี ปฏิบัติ และเรื่องสภาพจิตใจ สิ่งสำคัญที่ทำให้บาส – ปอป้อ ประสบความสำเร็จ คือ ระเบียบวินัย การทำทุกอย่างตามโปรแกรมที่วางไว้  ในการซ้อมของเอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่  เน้นที่คุณภาพและวัตถุประสงค์ของการฝึกซ้อมแต่ละครั้งเป็นหลักว่า ตอบโจทย์และเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงสมรรถภาพทางกลไกของร่างกาย กับความสมดุล

 

ศ.ดร.เจริญ    กล่าวด้วยว่า  ที่ผ่านมาไม่เคยสร้างความกดดันด้วยการคาดหวังกับนักกีฬาว่าต้องชนะ  เพราะสิ่งนี้จะทำให้นักกีฬามีความกดดันสะสมตั้งแต่ก่อนลงสนาม และจะกดดันมากยิ่งในระหว่างการแข่งขัน   ในรายของ บาส  และ ปอป้อ   จะแนะนำเสมอว่าเกมกดดันไม่เป็นไร   เพราะคือ ธรรมชาติของการแข่งขัน แต่ทั้งคู่ต้องไม่กดดันตัวเอง ไม่ต้องคิดถึงผลการแข่งขัน ให้คิดถึงรูปแบบวิธีการเล่นที่ฝึกซ้อมวางแผนกันมา  ให้มีสมาธิอยู่กับเกม  ผลงานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า   ทั้งคู่ก้าวข้ามตรงนั้นมาได้แล้ว สอบผ่านเรื่องสภาพจิตใจตัวเอง

 

  9   เดือน  ต่อยอดความสำเร็จ  2 มือหวด สู่ตำแหน่งแชมป์แบดมินตันคู่ผสม

 

 

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office  "เอสซีจี"  กล่าวว่า ความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นกับนักกีฬา    คือการทำงานหนักของทีมผู้ฝึกสอน ทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่เสียสละทุ่มเทในการพัฒนาด้านต่างๆ   จนนักกีฬาสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

 

“เอสซีจี  เราเชื่อมั่นในตัวนักกีฬาไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก สามารถเป็นหนึ่งในระดับโลกได้ หากมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ฝึกซ้อมและมีวินัยในตัวเอง  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นว่า แนวทางวิทยาศาสตร์การกีฬาควบคู่กับทักษะแบดมินตันที่ทำมาถูกต้อง แต่ต้องพัฒนาต่อไป ทีมงานยังต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะชาติอื่นๆก็ต้องแก้ไขและพัฒนาเพื่อเอาชนะเรา รวมถึงต้องมีการพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ๆ ให้มีความต่อเนื่องด้วย”  วีนัส  กล่าว

 

  9   เดือน  ต่อยอดความสำเร็จ  2 มือหวด สู่ตำแหน่งแชมป์แบดมินตันคู่ผสม

 

ทั้งหมดนี้คือการทำงานของทุกฝ่ายตลอด 9  เดือน  จนนำมาสู่ความสำเร็จของ "บาส"เดชาพล  พัววรานุเคราะห์ - "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย  ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการแบดมินตันไทยในระดับโลก ด้วยการคว้าแชมป์แบดมินคู่ผสม 3 รายการ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ