ข่าว

"หัวหิน" ระทม อาคาร รุกหาด ยืดเยื้อ 30 ปี ยอมจ่าย เพราะ ทำเลทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวบ้าน จี้หน่วยงานรัฐ แก้ปัญหารุกหาด "หัวหิน" หลังยืดเยื้อมานานกว่า 30 ปี เอกชนหัวใส ยอมจ่ายค่าปรับแทน เพราะเป็น ทำเลทอง ผลตอบแทนดี

เพจข่าวประจวบ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่สะพานปลา ถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม นานกว่า 30 ปี ที่ชายหาดโดนบุกรุก เพื่อเอาไปทำธุรกิจ เอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว อาการหนักหนาสาหัสกว่าฝรั่งภูเก็ต เอาหาดทำบันไดขึ้นบ้าน พลาดไปเตะหมอ วันนี้ ทำไมยังไม่ได้ยินเสียงนายอำเภอหัวหิน นายกเทศบาลหัวหิน ที่มีหน้าที่ดูแลที่สาธารณประโยชน์ ไม่มีกรมเจ้าท่าจะโผล่มาบอกชาวไทย เมื่อไหร่จะรื้ออาคารโรงแรม ร้านอาหาร บ้านพัก เพื่อคืนความสุขให้ประชาชนเอาชายหาดไปนอนอาบแดด”

30 ปีรุกหาดหัวหิน

นอกจากนี้ เพจข่าวประจวบ ยังโพสต์ข้อความอีกว่า น้ำทะเลเค็มพอกัน แต่การบริหารจัดการชายหาดหัวหิน ไม่ว่องไวเหมือนชายหาดภูเก็ต แม้ว่าจะมี ป.ป.ช.จังหวัด มีอำนาจหน้าที่เหมือนกัน แต่ความสนใจกับปัญหาน่าจะแตกต่างกัน ขณะที่ ป.ป.ช.หากสนใจ ควรถามนายอำเภอ นายกเทศบาลหัวหิน หาคำตอบที่สาธารณะประโยชน์อยู่ตรงไหน ใครอนุญาตให้สร้างอาคาร ออกเลขที่บ้านชั่วคราวให้ ขอใช้น้ำประปา ไฟฟ้า ถามสำนักงานเจ้าท่าจังหวัด ดูแลพื้นที่น้ำท่วมถึงในบริเวณใด

 

 

ทั้งนี้ภายหลังโพสต์ดังกล่าว ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่า ปีใหม่ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนหัวหิน ยังไม่มีอะไรหลุดออกมาจากปากซักประโยคเกี่ยวกับหาดหัวหิน จะว่าไม่เห็นไม่รู้อะไรเลยแถวหาดหัวหิน ก็คงต้องหาจักษุแพทย์เก่งๆ แล้ว ปรึกษาการมองเห็นของสายตา ประสาอะไรกับระดับท้องถิ่น ใครไม่ฮา ผมฮา ปล. ปลายปีที่ผ่านมา ก็มีคำพิพากษาระหว่างหน่วยงานรัฐกับผู้บุกรุก (ตามคำฟ้อง) แล้วใครจะทำไม Thailand only

    30 ปีรุกหาดหัวหิน

  • 30 ปี รุกหาดหัวหิน

 

 

ปัจจุบันที่บริเวณชายหาดหัวหิน ริมถนนนเรศดำริห์ ตั้งแต่บริเวณสะพานปลาหัวหิน จนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม มีร้านค้า ร้านอาหารซีฟู้ดชื่อดัง ร้านตัดเสื้อผ้า บ้านพักส่วนตัว อาคารคล้ายโรงแรม เปิดบริการห้องพักรายวัน ตั้งเรียงรายริมชายหาดยื่นออกลงไปในทะเลยาวหลายสิบเมตร ซึ่งในยุคที่ คสช.ยึดอำนาจในปี 2557 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาจัดระเบียบชายหาดหัวหิน แต่ผู้บุกรุกส่วนใหญ่ยังขัดขืน กระทั่งเทศบาลเมืองหัวหิน ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เพื่อให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำต่างๆ แต่มีการยื่นอุทธรณ์คดีถึงศาลปกครอง

 

 

ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมาย แต่ปรากฏว่า ผู้ที่บุกรุกสร้างอาคารที่ทำธุรกิจร้านอาหารบางแห่ง ซึ่งมีรายได้สูง ยอมโดนปรับเป็นรายวัน โดยไม่มีการรื้อถอนแต่อย่างใด เพราะถือเป็นทำเลทอง ทำเงิน ทำให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าเจรจาขอให้รื้อถอนอาคารออก แต่ยังยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน 

    30 ปีรุกหาดหัวหิน

 

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ บริเวณพื้นที่บุกรุกดังกล่าว มีเครือญาติของนักการเมืองท้องถิ่นหลายราย ใช้พื้นที่หาประโยชน์ จึงทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว นำไปเทียบกับการจัดการปัญหาที่ จ.ภูเก็ต ภายหลังเกิดเหตุการณ์ “ฝรั่งเตะหมอ” เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยได้ทำการจัดระเบียบชายหาด ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันทันที ต่างจากชายหาดหัวหิน ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดสนใจไปตรวจสอบ

 

 

อดีตเจ้าพนักงานที่ดิน สาขาหัวหิน รายหนึ่ง กล่าวว่า ชายหาดหัวหินในจุดที่มีการบุกรุกนั้น เป็นปัญหาเรื้อรังมานานมากกว่า 30 ปี จากเดิมจุดดังกล่าว เป็นที่ทำกินของชาวประมงตามวิถีชีวิตพื้นบ้าน ไม่มีการสร้างอาคาร เนื่องจากไม่มีผู้ใดมีเอกสารสิทธิ โดยมีฝ่ายปกครองร่วมกับเทศบาลหัวหินดูแลที่สาธารณะประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 มีสำนักงานเจ้าท่าดูแลในพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง ตาม พ.ร.บ.การเดินทางในน่านน้ำไทย 2457

 

 

เดิมเมื่อ 20 ปี สำนักงานเจ้าท่าจังหวัด เคยฟ้องร้องผู้บุกรุกหลายสิบราย อัยการสั่งฟ้อง แต่ศาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ สั่งยกฟ้อง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่สืบเสาะเพื่อฟ้องผู้บุกรุกตัวจริง แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ไปยื่นฟ้องผู้เช่าช่วงเพื่อทำธุรกิจ หลังจากนั้น จึงมีการบุกรุกสร้างอาคารเพื่อหาผลประโยชน์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวนิยมไปใช้บริการ

        30 ปีรุกหาดหัวหิน

 

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีข่าวการรื้อถอน ก็จะมีการปล่อยข่าว สร้างกระแสให้ชาวหัวหินสับสนว่า จะมีนายทุนใหญ่ จะไปขอเช่าใช้พื้นที่เพื่อหาประโยชน์ ซึ่งข้อเท็จจริง พื้นที่ดังกล่าว ไม่สามารถเปิดให้เช่าใช้ได้

 

 

ขณะที่ ในอดีต เจ้าหน้าที่รังวัด ได้วางแนวเขตที่ดินสาธารณะไว้แล้ว เช่นเดียวกับเขตของกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นอำนาจของกรมเจ้าท่า ฝ่ายปกครองกับเทศบาล จะทำหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่เทศบาลสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับอนุญาต และปัญหาที่จะกระทบกับการท่องเที่ยวมาจากการสร้างอาคารในทะเล อาจจะมีปัญหากระทบถึง พ.ร.บ.สาธารณสุข เนื่องจากทุกอาคารไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้ง

 

 

ด้าน นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวว่า การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเวลาอีกไม่เกิน 2 ปี ยอมรับว่าขณะนี้ ผู้บุกรุกบางราย ยังใช้สิทธิอุทธรณ์ และยอมจ่ายค่าปรับรายวันให้เทศบาล ในธุรกิจที่มีกำไรต่อวันค่อนข้างสูง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าว / สุรยุทธ ยงชัยยุทธ / ประจวบคีรีขันธ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ