ครม. เพิ่มโทษ ใครดื่ม 'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์' นอกเวลา-สถานที่ เจอปรับอ่วม
ครม. อนุมัติหลักการ ร่าง 'พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์' เพิ่มโทษ ใครดื่ม 'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์' นอกเวลา-สถานที่ ที่กฎหมายกำหนด เจอปรับอ่วม
(3 มี.ค. 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเพิ่มเติมโทษ กรณีฝ่าฝืน บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิม จนถึงตอนนี้ผ่านมา 16 ปี แล้ว ซึ่งตามหลักการกฎหมายทุกฉบับเมื่อบังคับใช้ผ่านไป 5 ปี แล้วต้องมาทบทวนว่า เมื่อเทียบกับสถานการณ์แล้วยังใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ยังมีบางประเด็น บางแง่มุมที่ไม่มีความชัดเจน บทบัญญัติไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเสนอร่างฯ ใหม่เข้ามา โดยกำหนดนิยามคำว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮล์” นิยามคำว่า “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” รวมถึงนิยาม “สื่อสารการตลาด” เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอดีต กฎหมายไม่ได้ระบุว่า ปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไหร่ ไม่เกินเท่าไหร่ ทำให้อยู่ที่การตีความ ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะระบุชัดว่า หากแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่ถือว่า เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ ยังบัญญัติให้เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น เพิ่มผู้แทนจากกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และให้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีที่รักษาการตาม พ.ร.บ.ในการกำหนดไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ขาย หรือสถานบริการ รวมทั้งเพิ่มโทษ หากละเมิดดื่มในจุดที่ห้ามขาย ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
ทั้งนี้ ตามหลักการ ครม. เห็นด้วยในหลักการว่า พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ในปัจุบัน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม มีความเห็นว่า สิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเศรษฐกิจนั้น มันมีทิศทางของการที่จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติทางด้านศรษฐกิจ ต้องมีการผ่อนปรนมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ก็เห็นความสำคัญทางด้านสุขภาพ เรื่องความปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ครม. จึงเห็นชอบว่า ร่าง พ.ร.บ. ต้องยกร่างใหม่ แต่เนื้อหาสาระ ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำกลับไปทบทวน ให้เกิดสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพ และมิติกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยนายกฯ ให้เลขาธิการนายกฯ พร้อมคณะทำงานไปรีวิวว่า สิ่งที่การท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการการผ่อนปรนด้านใดบ้าง และเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ หาก ครม.เห็นชอบก็ส่งให้กฤษฎีกา เพื่อนำไปประมวล ทำให้เนื้อหาร่างออกมามีความสมดุลทั้งสุขภาพ และศรษฐกิจ
“สรุปร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอมารอบนี้ ครม. เห็นชอบในหลักการ แต่เนื้อหาจะรอให้กฤษฎีกาได้รับข้อเสนอในมิติด้านเศรษฐกิจ ให้เรียบร้อยแล้วนำไปเขียนทบทวนใหม่ แล้วค่อยเสนอกลับเข้ามาใหม่อีกครั้ง”