ข่าว

กพร. เปิดข้อมูล ไทยพบแหล่ง 'แร่ลิเทียม' จริง แต่ไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กพร. เปิดข้อมูล ชี้แจง ไทยพบแหล่ง 'แร่ลิเทียม' จริง แต่ไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก ขณะที่ 'อ.เจษฎ์' คำนวณยืนยันอีกเสียง ไทยไม่ใช่อันดับที่ 3 ของโลก

กลายเป็นกระแสดังที่ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ไทยขุดพบเจอแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ที่สามารถเพิ่มศักยภาพผู้นำผลิต รถยนต์ EV ในอาเซียนได้ แต่ล่าสุดก็มีนักวิชาการออกมาเบรกว่า 'แร่ลิเทียม' ที่เราพบนั้นอาจไม่ใหญ่ขนาดนั้น และทาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวแล้ว

 

 

โดยทาง 'อ.เจษฎ์' ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาระบุข้อความว่า "ประเทศไทย พบแหล่งแร่ ที่มี ธาตุลิเทียม จริง แต่ไม่น่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกนะครับ"

 

 

ซึ่งตามข่าวที่ออกมานับว่าเป็นข่าวดีจริงๆ ที่เราค้นพบหินแร่ธาตุหายาก และกำลังเป็นที่ต้องการของทั้งในไทยเองและในต่างประเทศ อย่างเช่น ธาตุลิเทียม แต่ประเด็นคือ ไทยเรามีลิเทียมเยอะมาก ขนาดนับเป็นอันดับ 3 ของโลกเชียวหรือ

 

 

"ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข "14.8 ล้านตัน" ที่เป็นข่าวกันว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า "หินเพกมาไทต์" ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ  6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเองครับ"

 

 

ตามรายละเอียดของข่าว ระบุว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียม ในพื้นที่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา / พบหินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาว หรือ "หินเพกมาไทต์" ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพา "แร่เลพิโดไลต์" สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียม มาเย็นตัวและตกผลึก จนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ "แหล่งเรืองเกียรติ" มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% (อยู่ในเกรดระดับกลาง) และ "แหล่งบางอีตุ้ม" ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง / นอกจากนี้ ยังอาจจะพบได้ในอีกหลายแห่ง ในภาคใต้และภาคตะวันตก (จ.ราชบุรี) ที่ได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไป 6 ราย

 

 

ซึ่งรายงานข่าวยังอ้างต่อว่า แหล่งลิเทียมเรืองเกียรตินี้ เป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียม มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และอาเจนตินา / หากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว (ในอีก 2 ปี) คาดว่าจะเริ่มทำเหมืองได้ และสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน  และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน

 

 

ทีนี้ ถ้าเอาตัวเลข 6.66 หมื่นตันเป็นตัวตั้งว่า ประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีปริมาณธาตุลิเทียมที่น่าจะผลิตออกมาได้จากหินเพกมาไทด์ ไปเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ USGS หรือ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการไว้ล่าสุด ในปี 2023 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังห่างไกลจากประเทศ Top10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก 

 

 

ทั่วโลกมีแหล่งทรัพยากร ธาตุลิเทียม ประมาณ 98 ล้านตัน โดยอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีปริมาณทรัพยากรชนิดนี้มากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย 5 อันดับต้นๆ คือ

 

  • โบลิเวีย 21 ล้านตัน 
  • อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน
  • อเมริกา 12 ล้านตัน
  • ชิลี 11 ล้านตัน
  • ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน

 

และถ้าดูจากลำดับประเทศที่ "ขุดเหมือง-ถลุงลิเทียม" ขึ้นมาได้จริงๆ แล้ว ก็ไม่ใช่ประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเทียมเยอะที่สุด อย่างโบลิเวียและอาร์เจนตินา ด้วย แต่กลับเป็นออสเตรเลีย 

 

 

จริงๆ แล้ว ข่าวเกี่ยวกับการ "เปิดแหล่งลิเทียมภาคใต้คุณภาพสูง แหล่งผลิตแบตเตอรี่ EV แห่งใหม่ในอนาคต" นั้น มีมาตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมกราคมแล้ว โดยเน้นเรื่องการผลงานวิจัยของ "ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา" หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ศึกษาลักษณะเฉพาะและศักยภาพของแหล่งลิเทียมใน จ.พังงา

 

 

ซึ่งคณะผู้ศึกษาวิจัย ได้พบแหล่งลิเทียมอยู่ในรูปของแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมสูง เฉลี่ยประมาณ 0.4 % สมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก โดยเกิดจากการตกผลึกของแมกมา ที่ความสัมพันธ์กับหินแกรนิตที่กระจายตัวในพื้นที่ภาคใต้ และต่อเนื่องมายังพื้นที่อื่นๆ ของไทย มีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สามารถขยายผลสู่การ จึงน่ามีการสำรวจและพัฒนาทรัพยากรนี้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ 

 

 

แต่ตอนนั้นไม่มีการกล่าวอ้างเรื่องที่ว่าแหล่ง แร่ลิเทียม ในไทยใหญ่เป็น "อันดับ 3 ของโลก" แต่อย่างไร พึ่งจะมามีอ้างกัน ก็ตอนแถลงข่าวช่วงสัปดาห์นี้เอง ไม่ทราบว่ามาจากไหนกัน

 

 

"เน้นอีกครั้งว่า ถ้าผมคำนวณหรือเข้าใจอะไรผิดพลาด รบกวนช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนอธิบายให้ฟังด้วยนะครับ"

 

 

 

ในขณะที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกมาชี้แจง ถึงกรณีนี้เช่นกัน 

 

"คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

 

 

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์ เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต"

 

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

 

 

ภาพ : FREEPIK

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ