ข่าว

ผวา นักวิจัยแยก 'โคโรนาไวรัส' จาก ตัวนิ่มมลายู เกิด สายพันธุ์ใหม่ที่อันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดข้อมูลงานวิจัยจีน แยก 'โคโรนาไวรัส' SARS-CoV-2 จาก 'ตัวนิ่มมลายู' กระตุ้นจนเกิด สายพันธุ์ใหม่ "GX/P2V(short_3UTR)" สายพันธุ์ที่อันตราย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยแพร่ข้อมูล ทีมวิจัยจีนแยก 'โคโรนาไวรัส' SARS-CoV-2 สายพันธุ์ "GX/P2V" ได้จาก 'ตัวนิ่มมลายู' จากนั้นกระตุ้นให้กลายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการเกิดสายพันธุ์ใหม่ "GX/P2V(short_3UTR)" ที่มีอันตรายสูงหนูทุกตัวที่ติดเชื้อจะตายทั้งหมด 100% เนื่องจากเซลล์สมองถูกทำลาย

 

 

ในปี 2560 ทีมวิจัยจีนนำโดย ดร. ยี่กวน (Yi Guan) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงสามารถแยกไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2 (SARS-CoV-2) ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมคล้ายกับไวรัสโคโรนา 2019 ได้จาก "ตัวนิ่มมลายู (Malayan pangolins)" สัตว์สงวนเลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกลักลอบเข้าจีน ซึ่งมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature ก่อนการระบาดของ 'โควิด-19' ถึง 2 ปี

 

 

ไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า SARS-CoV-2 สายพันธุ์ "GX/P2V"  ซึ่งย่อมาจาก "pangolin-CoV GX/P2V" แสดงให้เห็นว่า ตัวนิ่ม เป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากค้างคาวที่สามารถเป็นรังโรคของ 'โคโรนาไวรัส' SARS-CoV-2 ได้เช่นกัน

 

 

ต่อมาทีมวิจัยจีนเช่นกันนำโดย ดร.ลี่หัวซ่ง ในเครือของ Beijing Advanced Innovation Center for Soft Matter Science and Engineering, College of Life Science and Technology, Beijing University of Chemical Technology, ปักกิ่ง ประเทศจีน ได้นำเสนอผลงานวิจัยเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 ในฐานข้อมูลออนไลน์ "bioRxiv" (โดยยังรอการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ)  ระบุว่า ทีมผู้วิจัยได้นำ 'โคโรนาไวรัส' SARS-CoV-2 สายพันธุ์ "GX/P2V" มาเพาะเลี้ยงกับเซลล์ (vero cell) ในห้องปฏิบัติการ จนเกิดการกลายพันธุ์ มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "GX/P2V(short_3UTR)"

 

สายพันธุ์อันตราย

 

'โคโรนาไวรัส' SARS-CoV-2 สายพันธุ์ "GX/P2V (short_3UTR)" พบว่ามีจีโนมส่วนหนึ่งขาดหายไป 104 นิวคลีโอไทด์บริเวณ 3'-UTR เมื่อนำไปทดลองติดเชื้อกับหนูดัดแปลงพันธุกรรม "hACE2 mice"  ที่ผิวเซลล์มีเอนไซม์มนุษย์  ACE2 (angiotensin-converting enzyme 2) เกาะอยู่บนพื้นผิวของเซลล์เหมือนกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์  เช่น เซลล์บุผนังหลอดเลือด เซลล์เยื่อบุลำไส้ และเซลล์ปอดที่ไวรัส 'โควิด-19' จะใช้ส่วนหนามเข้าไปยึดเกาะ 

 

 

หนูเหล่านี้หลังติดเชื้อจะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ตั้งท่าก้มตัวและเดินช้าอย่างเหลือเชื่อในช่วงไม่กี่วันก่อนที่พวกมันจะเสียชีวิตภายใน 8 วันหลังการติดเชื้อ ไวรัสมีการแพร่ระบาดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั้งปอด กระดูก ดวงตา หลอดลม และสมอง การติดเชื้อในสมองมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้หนูเสียชีวิตได้ และก่อนที่หนูติดเชื้อจะเสียชีวิต ดวงตาจะเปลี่ยนเป็นสีขาวโพลน

 

 

ทีมวิจัยจากจีนแถลงว่าการวิจัยนี้เป็น "แบบจำลองสำคัญที่จำเพาะ" เพื่อให้เข้าใจกลไกการก่อโรคของไวรัสที่เกี่ยวข้องกับ SARS-CoV-2  เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ 'โควิด-19'

 

 

นักวิจัยจีน

 

 

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นต่าง เห็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย มีความเสี่ยงสุ่มเกินไปหากไวรัสเกิดอุบัติเหตุหลุดลอดออกไปจากห้องปฏิบัติการเกิดการระบาดระหว่างคนสู่คนไปทั่วโลก (pandemic)  ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก   

 

 

ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ "GX/P2V (short_3UTR)" ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ดังนั้นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเรียกร้องให้ทีมวิจัยนี้ยุติโครงการวิจัยในทันที

 

 

'ตัวนิ่ม' หรือ 'ลิ่นมลายู' หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ตัวนิ่มซุนดา' พบได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน เมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงเกาะบอร์เนียว ชวา สุมาตรา และ หมู่เกาะซุนดาน้อย

 

 

ข้อมูล-ภาพ : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ