ข่าว

ไทยพบรายแรก 'โอไมครอน JN.1' เปิด 13 คุณสมบัติ หากติดเชื้อ มีอาการอะไรบ้าง

ไทยพบรายแรก 'โอไมครอน JN.1' ซึ่งเป็นรุ่นลูกของ โอไมครอน BA.2.86 เปิด 13 คุณสมบัติ หากติดเชื้อ มีอาการอะไรบ้าง คาด ต้นปีหน้าอาจแพร่เป็นสายพันธุ์หลักในไทย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เตือน การระบาดของ โอไมครอน สายพันธุ์ 'JN.1' ซึ่งเป็นรุ่นลูกของ โอไมครอน BA.2.86 หรือมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิโรลา" ขึ้นชื่อในความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ปอดของผู้ติดเชื้อได้ดีที่สุด แต่ยังหลบหนีภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับโอไมครอนที่ระบาดมาก่อนหน้า เช่น EG.5.1 และ HK.3 อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกังวลว่า BA.2.86 อาจมีการกลายพันธุ์เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นโดยพบมีการซุ่มตัวแพร่เชื้อในระดับต่ำๆมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งในไทยพบผู้ติดเชื้อ 'โอไมครอน JN.1' แล้ว 1 ราย

 

 

โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 (B.1.1.529.2.86.1.1) ได้อุบัติขึ้น เป็นรุ่นลูกของ โอไมครอน BA.2.86 ซึ่งบนส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นหนึ่งตำแหน่งคือ "L455S" ส่งผลให้ความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ลดลงบ้างแต่ความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันกลับดีกว่า โอไมครอน BA.2.86 ทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดโดดเด่นในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของ 'โอไมครอน JN.1' ทำให้ทั้งองค์การอนามัยโลก, กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ, อังกฤษ, อินเดีย, สิงคโปร์ ออกมาเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางให้เข้ามารับการฉีดวัคซีน 

 

 

รัฐบาลอินเดียแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ 'โอไมครอน JN.1' โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง โดยให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม

 

 

ประเทศไทยเพิ่งพบ 'โอไมครอน JN.1' จำนวน  1 รายเมื่อ 28 ต.ค. 2566 โดยมีการแชร์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครฯ ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) คาดว่าต้นปีหน้าอาจแพร่เป็นสายพันธุ์หลักเหมือนประเทศอื่น

 

 

แม้ว่า 'โอไมครอน JN.1' จะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูงกว่า แต่อาการโดยทั่วไปไม่รุนแรง เช่น ไอ เหนื่อยล้า มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ และมีน้ำมูกไหล ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

 

 

13 คุณสมบัติสำคัญของ 'โอไมครอน JN.1' ที่ควรทราบจากองค์การอนามัยโลก, กรมควบคุมโลกสหรัฐฯ, จีเสส(GISAID), และหน่วยงานหลักประกันสุขภาพของสหราชอาณาจักร(UK Health Security Agency)

 

 

1. คุณสมบัติการหลบหนีระบบภูมิคุ้มกันของ โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 อาจทำให้มีการติดเชื้อซ้ำในกลุ่มประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

2. ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขมากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการหมุนเวียนติดต่อทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

 

3. บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และบุคคลที่มีโรคร่วมอื่นๆ ที่รุนแรงสามารถป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีที่ทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย

 

4. คุณสมบัติการหลบหนีระบบภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นของ โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 เมื่อเทียบกับรุ่นพ่อแม่ โอไมครอน BA.2.86 อาจทำให้สามารถแข่งขันกับสายพันธุ์อื่นๆ ได้และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2567

 

5. องค์การอนามัยโลก กังวลว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลกมีจำนวนลดลงอย่างมากอันอาจทำให้เราระบุจำนวน โอไมครอน สายพันธุ์ที่กำลังอุบัติขึ้นในขณะนี้เช่น JN.1, XDD คลาดเคลื่อน ส่งผลให้การวางแผนการป้องกันและการรักษาผิดพลาดได้

 

6. องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยของ SARS-CoV-2 เช่น JN.1, XDD อย่างต่อเนื่อง

 

7. ในขณะนี้ ความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่คาดว่าจะเกิดจาก โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำสำหรับการเกิดเป็นโรครุนแรงเมื่อเทียบกับ โอไมครอน สายพันธุ์อื่นๆ

 

8. โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 มีการแพร่กระจายที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการหมุนเวียนทั่วโลกในปัจจุบัน แต่ประเมินว่าไม่น่าจะถึงระดับของการระบาดครั้งแรกของ โควิด-19 หรือการระบาดของโอไมครอนครั้งแรก

 

9. สัดส่วนของผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อ โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 กำลังเพิ่มขึ้น แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

10. ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์ 'โอไมครอน JN.1' จะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้น

 

11. การแพร่ติดต่ออย่างรวดเร็วของ โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้เกิดคำถามว่ามันอาจขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อไปทั่วโลก

 

12. วัคซีนโควิด-19 เจนเนอเรชันล่าสุด "XBB.1.5 โมโนวาเลนต์" จากการทดสอบทั้งในสัตว์และทั้งในอาสาสมัครพบว่าป้องกันการติดเชื้อจาก โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1 ได้ดี

 

13. การทดสอบทางห้องปฏิบัติการด้วย ATK, PCR และการรักษา โควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสยังมีประสิทธิภาพต่อ โอไมครอน สายพันธุ์ JN.1

 

 

ข่าวยอดนิยม