ข่าว

เปิดที่มา 'ประเพณีสงกรานต์' ลุ้น ยูเนสโก ขึ้นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม วันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดตำนาน 'ประเพณีสงกรานต์' ของไทย มีที่มาและความสำคัญอย่างไร ลุ้น 'ยูเนสโก' (UNESCO) ขึ้นทะเบียน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ประจำปี 2566 วันนี้

'ประเพณีสงกรานต์' เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกัน โดยใช้ "น้ำ" เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี ตามคติโบราณที่สืบทอดกันมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบัน ถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยปกติกำหนด วันสงกรานต์ ไว้ 3 วัน วันแรกเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ 2 เป็นวันเนา และวันที่ 3 เป็นวันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราช)

 

 

สงกรานต์

 

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา วันมหาสงกรานต์ จะตรงกับวันที่ 13 เมษายน แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นวันที่ 14 เมษายน เพราะการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์นั้น วันมหาสงกรานต์จะเลื่อนไป 1 วันทุกๆ 60 ปีเศษ 

 

ปฏิทินหลวง ในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ 13-15 เมษายน เป็นวันเทศกาลสงกรานต์ แต่วันเถลิงศกยังอาศัยการคำนวณอยู่ บางปีจึงเป็นวันที่ 15 เมษายน และบางปีเป็นวันที่ 16 เมษายน

 

 

การประกาศสงกรานต์ ถือเป็นประกาศของทางราชการอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดปีหนึ่งๆ จะเปลี่ยนปีนักษัตรเริ่มศักราชใหม่ ทางราชการจะประกาศสงกรานต์ให้ราษฎรได้ทราบ เกี่ยวกับวัน เดือน ข้างขึ้น ข้างแรมในปีต่อไป 

 

ประกาศ สงกรานต์ มีสารประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของราษฎรหลายเรื่อง เช่น ทำให้ทราบวัน เวลา ขึ้นศักราชใหม่ กำหนดการพระราชพิธีต่างๆ การเกิดจันทรุปราคา สุริยุปราคาในบางปี รวมถึงเกณฑ์น้ำฝนที่จะทำนา และวันเริ่มต้นทำนาปลูกข้าว เป็นต้น

 

 

สงกรานต์

 

 

"เปิดตำนานวันสงกรานต์"

 

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ สงกรานต์ มาแต่สมัยโบราณว่า ท้าวกบิลพรหมซึ่งเป็นเทพชั้นพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ 7 ขวบ ที่เรียนจบพระคัมภีร์ไตรเพท ด้วยปัญหา 3 ข้อ คือ ในเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำ มนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรง หากวางบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง 7 นาง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี

 

 

"สืบสานวัฒนธรรมไทยสี่ภาค"

 

คนไทยในแต่ละภูมิภาคจะมีรูปแบบ พิธีกรรม จารีต ความเชื่อ เอกลักษณ์ และการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไปตามคติความเชื่อและการดำเนินชีวิต แต่กิจกรรมหลัก คือ การทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ การอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การรดน้ำดำหัวขอพรผู้อาวุโส การสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย การเล่นน้ำ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงมหรสพ และการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความรื่นเริงและความสามัคคีกันในครอบครัวและในชุมชน ซึ่งแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน

 

 

"การละเล่นครื้นเครง"

 

เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในงานเทศกาลนี้ผู้คนจะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อสร้างความบันเทิง และความสามัคคีในแต่ละชุมชน กิจกรรมเหล่านั้นรวมไปถึงการละเล่นพื้นบ้าน ดนตรี การแสดง และการละเล่นรื่นเริง ซึ่งในแต่ละภูมิภาคมีการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นับเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ทรงคุณค่า และสมควรสืบสานต่อยอดให้คงอยู่สืบไป

 

 

"รื่นรมย์บรรเลงเพลงไทย"

 

เพลงและดนตรีเป็นสิ่งที่คู่กับวัฒนธรรมและประเพณีของไทย เนื่องจากวิถีชีวิตคนไทยเป็นชนชาติที่ชอบความสนุกสนานรื่นเริง คนไทยมีความคิดว่าหากชีวิตมีความสนุกชีวิตนั้นก็จะเป็นชีวิตที่ดีและสมบูรณ์ เมื่อมีประเพณีไทยสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้จึงเป็นเพลงและดนตรี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความรื่นเริงจึงมักมีการเล่นเพลงและดนตรีไทยเพื่อให้ความบันเทิง

 

 

สงกรานต์

 

"ถนนแห่งสายน้ำชุ่มฉ่ำ"

 

ถนนสายสงกรานต์แห่งแรกของไทย คือ ถนนข้าวสาร มีวัตถุประสงค์ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักอาศัยและท่องเที่ยวในย่านถนนข้าวสารได้สัมผัสกับกิจกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ที่สนุกสนาน 

 

ถนนข้าวสาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2435 โดยเริ่มจากถนนหน้าวัดชนะสงครามมาตามตรอกข้าวสาร แล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนครหน้าสวนหลวงตึกดิน แล้วพระราชทานนามถนนตามเดิมว่า "ถนนข้าวสาร"

 

ใน พ.ศ. 2535 ภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจบนถนนข้าวสารได้จัดงานสงกรานต์ขึ้นตลอดเส้นทางบนถนนข้าวสาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่พักอาศัยในย่านดังกล่าวและใกล้เคียงได้ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ จึงทำให้งานสงกรานต์ถนนข้าวสารมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและทั่วโลก ถนนข้าวสารจึงเป็นเป้าหมายหลักที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่างเดินทางเข้ามาเล่นน้ำสงกรานต์บนถนนข้าวสารนี้ ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ สร้างถนนสายสงกรานต์ของตนเองขึ้นมา

 

จังหวัดแรกที่นำแนวคิดการจัด งานสงกรานต์ แบบถนนข้าวสารมา คือ จ.ขอนแก่น โดยใน พ.ศ. 2545 จังหวัดขอนแก่นกำหนดให้ถนนศรีจันทร์ตั้งแต่แยกถนนหน้าเมืองไปจนถึงบริเวณศาลหลักเมืองเป็นถนนสำหรับเล่นน้ำสงกรานต์ ปัจจุบันขยายไปจนถึงประตูเมือง จังหวัดขอนแก่นกำหนดชื่อเรียกเฉพาะงานนี้ว่า "ถนนข้าวเหนียว"

 

ต่อมาจังหวัดต่างๆ พากันตั้งชื่อถนนภายในจังหวัดให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละภาค เพื่อเป็นพื้นที่ในการเล่นน้ำ สงกรานต์ อย่างสนุกสนาน

 

  • ภาคกลาง มีถนนข้าวแช่ จ.ปทุมธานี, ถนนข้าวสุก จ.อ่างทอง, ถนนข้าวต้ม จ.นครนายก, ถนนข้าวตอก จ.สุโขทัย และถนนข้าวหมูแดง จ.นครปฐม
  • ภาคเหนือ  มีถนนข้าวแคบ จ.ตาก, ถนนข้าวข้าวปุก จ.แม่ฮ่องสอน, ถนนข้าวโพด จ.เพชรบูรณ์, ถนนข้าวแต๋น จ.น่าน และถนนข้าวขนมเส้น จ.แพร่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีถนนข้าวโพด จ.นครราชสีมา, ถนนข้าวเปียก จ.อุดรธานี, ถนนข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด, ถนนข้าวปุ้น จ.นครพนม, ถนนข้าวเย็น จ.ศรีสะเกษ และถนนข้าวกล่ำ จ.กาฬสินธุ์
  • ภาคใต้  มีถนนข้าวยำ จ.ปัตตานี, ถนนข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง และถนนข้าวหมาก จ.นราธิวาส

 

 

สงกรานต์

 

 

"ความสำคัญของประเพณี"

 

'ประเพณีสงกรานต์' นับเป็นประเพณีหนึ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญทางวัฒนธรรมที่จะแสดงถึงความรัก ความผูกพันในครอบครัว ชุมชน และสังคม เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน 

 

 

คุณค่าความสำคัญทางวัฒนธรรมของ 'ประเพณีสงกรานต์' ในด้านต่างๆ มีดังนี้

 

คุณค่าต่อตนเอง วันสงกรานต์ อาจถือได้ว่า เป็นวันแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นโอกาสที่ทำให้กลับมาสำรวจตนเองว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เราได้กระทำการใดที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง หรือสังคม รวมถึงสำรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าหรือความสุข  

 

คุณค่าต่อครอบครัว รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็น วันมหาสงกรานต์ ของทุกปีเป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" เพื่อให้ลูกหลานตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ บุพการี หรือผู้อาวุโสภายในครอบครัว และกำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันครอบครัว" เนื่องด้วยช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้านหรือภูมิลำเนาไปหาครอบครัว และมีโอกาสอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ บิดามารดา เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิต การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งทำกิจกรรมอื่นๆ ภายในครอบครัวร่วมกัน

 

คุณค่าต่อชุมชน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัดร่วมกัน ได้สังสรรค์และสนุกสนานรื่นเริงด้วยการเล่นรดน้ำ และการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น

 

คุณค่าต่อสังคม ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ ทำความสะอาดวัดวาอาราม พื้นที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ของชุมชนหรือหน่วยงานต่างๆ ด้วย

 

คุณค่าต่อศาสนา วันสงกรานต์ เป็นวันทำบุญครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ฟังธรรม สรงน้ำพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา การทำบุญทำทาน และการถือศีลปฏิบัติธรรม ล้วนเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

 

 

'ประเพณีสงกรานต์' เป็นประเพณีที่งดงามทรงคุณค่า เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษาความสะอาดทั้งกาย ใจ และสิ่งแวดล้อม คุณค่าในการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและการแสดงความรักความปรารถนาดีและความเอื้ออาทรแก่ญาติมิตร นับเป็นประเพณีแห่งความสมัครสมานสามัคคีในครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย ในฐานะประชาชนคนไทยควรตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และแก่นแท้ของ ประเพณีสงกรานต์ ที่งดงามและช่วยกันสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามด้วยการยึดถือปฏิบัติกันสืบไป

 

 

ข้อมูล : หอสมุดแห่งชาติ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ