เปิดที่มา 'จตุรมิตร' ที่เป็นมากกว่า ศึกแห่งศักดิ์ศรี ฟุตบอลสี่เส้า
เปิดประวัติ ความเป็นมา 'จตุรมิตร' จตุรมิตรสามัคคี ที่เป็นมากกว่า ศึกแห่งศักดิ์ศรี 'ฟุตบอลสี่เส้า' 4 โรงเรียน มัธยมชาย
59 ปี ที่ถือกำเนิด “จตุรมิตร” หรือ จตุรมิตรสามัคคี ฟุตบอลประเพณีของเด็กมัธยม ที่เป็นมากกว่า บอลเด็ก... ที่ผ่านมา มีการปั้นนักฟุตบอลระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก มาแล้วหลายคน และเหนือไปกว่านั้น มันคือแมทช์สำคัญของมิตรภาพ ของ 4 โรงเรียนชายล้วน ประกอบด้วย สวนกุหลาบวิทยาลัย, เทพศิรินทร์, อัสสัมชัญ และ กรุงเทพคริสเตียน
“จตุรมิตร” เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของสองอาจารย์ใหญ่ คือ “โปร่ง ส่งแสงเติม” จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กับ “อารีย์ เสมประสาท” จากกรุงเทพคริสเตียน ที่จับมือกันพากันไปขอความร่วมมือจาก อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และอัสสัมชัญ ให้ร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง 4 สถาบัน เพื่อเชื่อมความสามัคคีของครูอาจารย์และนักเรียนทุกฝ่าย ซึ่งอาจารย์ทั้งสี่มีความเห็นพ้องกัน
จากประวัติ ว่ากันว่า เป็นการแก้ปัญหานักเรียนยกพวกตีกัน ช่วงรอยต่อระหว่างปี 2499 ถึงราวปี 2506 คือช่วงที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “2499 อันธพาลครองเมือง”
“จตุรมิตรสามัคคี” จึงจัดขึ้นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 16 ต.ค.-18 พ.ย. 2507 โดยสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพ สืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี แต่กระทั่งปี 2530 เป็นต้นมา การแข่งขัน “จตุรมิตร” ถูกขยับให้จัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อประหยัดงบประมาณ โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ
แต่ถึงแม้ว่าความสามัคคีจะเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน “จตุรมิตร” มาโดยตลอด แต่ศึกแห่งศักดิ์ศรี ศึกแห่งสถาบัน ก็เลี่ยงไม่ได้เช่นกัน การแข่งขันระหว่างโรงเรียนได้เพิ่มความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันทีมคู่ปรับ ระหว่างสวนกุหลาบวิทยาลัยกับเทพศิรินทร์ และอัสสัมชัญกับกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สิ่งนี้นำไปสู่ความรุนแรงระหว่างโรงเรียนหลายกรณี ในช่วงหลายสัปดาห์ของการแข่งขัน ขอบเขตของปัญหาคือ ต้องมีการแยกผู้ชมอย่างเข้มงวด และการบังคับใช้ความปลอดภัยในระหว่างการแข่งขัน
“จตุรมิตร” เวทีแจ้งเกิดนักฟุตบอลไทย
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ฟุตบอล “จตุรมิตรสามัคคี” ได้สร้างนักเตะดาวรุ่งป้อนสู่ทีมชาติไทย และสโมสรชั้นนำในไทยมานักต่อนัก ถือได้ว่าทั้ง 4 โรงเรียนนี้ เป็นอะคาเดมียุคเริ่มต้นของฟุตบอลไทยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น “ปกเกล้า อนันต์” (แบงค็อก ยูไนเต็ด) กัปตันทีมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 127, เชาว์วัฒน์ วีระชาติ (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 132 และยังมีประสบการณ์ได้ไปเล่นในเจลีก กับ เซเรซโซ โอซากะ ยู 23 อีกด้วย
และโดยเฉพาะ “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย (ชลบุรี เอฟซี) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รุ่น 150 นักเตะที่ฉายแววตั้งแต่เด็กๆ นอกจากนั้นยังมี กิตติศักดิ์ ระวังป่า (โรงเรียนอัสสัมชัญ), โชคทวี พรหมรัตน์ (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน) อดิศร พรหมรักษ์ (โรงเรียนสวนกุหลาบ) พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (โรงเรียนเทพศิรินทร์) และอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง
เราจึงได้เห็นการแข่งขันที่เติบโตขึ้นทุกวัน เป็นที่พูดถึงมากขึ้นทุกปี และมีประเพณีที่งดงามถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่นมากมาย จตุรมิตร จึงไม่ใช่แค่ “บอลเด็ก” อีกต่อไป
“แปรอักษร” ความขลังของ “จตุรมิตร”
และนอกจากการแข่งขันฟุตบอลที่ดุเดือดแล้ว การ “แปรอักษร” เป็นอีกหนึ่งประเพณี ที่อยู่คู่กับ “จตุรมิตรสามัคคี” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะมีความพยายามอย่างมากในการสร้างการแสดงอย่างประณีต และการแปรอักษร ของทั้ง 4 สถาบัน เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เชื่อมความสามัคคี ที่ทั้ง 4 โรงเรียน ต้องวางแผนร่วมกันข้ามวันข้ามปี
แต่ในการแข่งขัน “จตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-18 พ.ย. 2566 โดยโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นเจ้าภาพ กลับเจอดราม่าร้อน จนเกิดแฮชแท็กซ์ #เลิกบังคับแปรอักษร เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ หลังจากที่มีศิษย์เก่ากลุ่มหนึ่ง ทำการแปะป้ายข้อความ “ยกเลิกแปรอักษร” บนสะพานลอย หน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่เสียงก็แตกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน
ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 59 ปี “จตุรมิตร” เป้าหมายสำคัญ จึงไม่ได้อยู่แค่การแข่งขันฟุตบอล แต่มันหมายถึง ประเพณีที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นความขลัง ที่งดงาม ซึ่งเป็นมากกว่าศึกแห่งศักดิ์ศรี ฟุตบอลสี่เส้า
ขอบคุณภาพ : Jaturamitr_Official, กรุงเทพคริสเตียน ข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย