ข่าว

เปิดสถิติ 'ฤดูหนาว' ล่าช้า และ เหตุผล ทำไม ปีนี้ 'เสื้อกันหนาว' ไม่ได้ใส่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดสถิติ 'ฤดูหนาว' ล่าช้า ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญด้าน สภาพอากาศ เปิดเหตุผล ทำไม ปีนี้ 'เสื้อกันหนาว' อาจไม่ได้ใส่ แถมปีหน้า ร้อน-แล้ง สุดๆ

จากการคาดหมาย “สภาพอากาศ” ช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยว่า ที่กรมอุตุนิยมวิทยา ยังไม่ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวของไทย ซึ่งปกติ “ฤดูหนาว” จะอยู่ในช่วงตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.-ก.พ.ของปีถัดไป ยกเว้นบางปีที่ประกาศล่าช้าไป 2 สัปดาห์ เป็นช่วงต้นเดือน พ.ย. แต่ในปีนี้ ยังไม่สามารถประกาศได้ เพราะสภาพอากาศไม่คงที่

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

จากประเด็นนี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า เมื่อวิเคราะห์การกระจายของอุณหภูมิช่วงเดือน ธ.ค. และเดือน เม.ย. ตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่า ในเดือน ธ.ค.จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี (ความหนาวเย็น) ยกเว้นปี 2566 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 20 องศาฯ นั่นหมายความว่า ฤดูหนาวปีนี้จะไม่หนาว ในขณะเดียวกันอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน เม.ย. 2567 ก็จะสูงกว่าปกติ 1.5 องศาฯ ก็จะร้อนสุดๆ เหมือนกัน

 

 

“จากปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และสภาพอากาศแปรปรวน (เอลนีโญ) ดังนั้น ปลายปีนี้ จนถึงต้นปีหน้า เสื้อกันหนาวอาจจะขายไม่ค่อยดีน่ะครับ พ่อค้า แม่ค้า อย่าสั่งมาตุนเยอะน่ะครับ” รศ.ดร.เสรี ให้ข้อมูลผ่านเพจ

อุณหภูมิคาดการณ์ฤดูหนาว

รศ.ดร.เสรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศ ช่วงปลายฝน ฝนก็ตก โดยเฉพาะภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ สำหรับน้ำท่วมรอการระบาย เป็นเรื่องปกติ การคาดการณ์ปริมาณฝนในปีไม่ปกติ (เช่น ปีเอลนีโญ) มีความคลาดเคลื่อนสูง เช่นปีนี้ การพยากรณ์รายฤดูกาล แบบจำลอง โดยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศฝนน้อย แต่ในข้อเท็จจริง ปริมาณฝนเดือน ก.ย. และเดือน ต.ค. มีมากกว่าปกติประมาณ 30% และ 19%ตามลำดับ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน (อย่างไรก็ตามปริมาณฝนสะสมยังคงน้อยกว่าปกติ ยกเว้นภาคอีสาน) ดังนั้น การพยากรณ์ฝนปีนี้ จึงพึ่งได้เฉพาะการคาดการณ์ล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น เกษตรกร และชาวนาจึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือน

 

 

แม้ว่าเดือนกันยายน และตุลาคมจะเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในบางพื้นที่เช่นภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน แต่เมื่อวิเคราะห์จากดรรชนีฝน SPEI พบว่า ช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังคงมีสถานะฝนแล้ง ยกเว้นบริเวณชายขอบฝั่งตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือริมแม่น้ำโขง

สภาพอากาศช่วงต้นฤดูฝน 2567

 

ในขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรัง ฝนก็ตกได้น้ำ ราคาข้าวดี จูงใจให้ชาวนาทำนากันในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำต้นทุน (เฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา) ประมาณ 62% (11,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) น้อยกว่าปี 2565 (78%, 14,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) โดยปีที่แล้วมีการจัดสรรน้ำกว่า 5,800 ล้านลูกบาศ์กเมตร ทำนาปรังกว่า 7 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา แต่ปีนี้ ดูจากข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการจัดสรรน้ำให้ชาวนาเพียง 2,300 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ทำนาได้เพียงไม่เกิน 2 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ อะไรจะเกิดขึ้น ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% โดยเฉพาะในภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้ำต้นทุนของตัวเอง (บ่อ สระ ฝายขนาดเล็ก ระบบสูบน้ำเข้าแปลงนา) ประกอบกับอากาศร้อน และแล้งจัดปีหน้า อัตราการระเหยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ปัญหาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 และ คลื่นความร้อนในเมืองจะตามมา

 

 

แม้ว่าการพยากรณ์ฝนรายฤดูกาล อาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็มีความจำเป็นต่อชาวนาในการเตรียมปัจจัยการผลิต เพราะต้นทุนการทำนาจะสูง หากไม่มีการวางแผน

ดรรชนีสภาพความแห้งแล้งปี 2567

 

ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด จากแบบจำลองหลายชุด บ่งชี้ปริมาณฝนต้นฝนปี 2567 อาจจะน้อยกว่าปกติ ส่งนัยถึงการเข้าสู่ฤดูฝนที่ล่าช้าออกไป ปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องเตรียมไว้สำหรัยช่วงต้นฤดูฝน ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% จะต้องเตรียมการรับมือด้วย และที่สำคัญ เกษตรกร และชาวนา ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะสภาพอากาศ คือชีวิตความเป็นอยู่ของทุกท่าน

 

 

สถิติฤดูหนาวล่าช้า

 

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2526-2565 ประเทศไทยมีการประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวปีปกติ (ช่วงต.ค.-ก.พ.) ในปี 252, 2528, 2534, 2529, 2532, 2534, 2538, 2549, 2554 เป็นต้น

 

 

ส่วนปีที่ประกาศเข้าฤดูหนาวล่าช้า มี 2 ปี คือปี 2526 และปี 2542 ประกาศวันที่ 15 พ.ย. ส่วนที่ฤดูหนาวล่าช้าแค่ 2 สัปดาห์ คือต้นเดือน พ.ย. คือปี 2551

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ