ข่าว

ตะลึง พบ 8 'ไวรัส' สายพันธุ์ใหม่ในสัตว์ฟันแทะ อาจก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิทยาศาสตร์จีน พบ 8 'ไวรัส' สายพันธุ์ใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จัก ใน สัตว์ฟันแทะ อาจก่อให้เกิด 'โรคเอ็กซ์' โรคระบาดร้ายแรงระหว่างประเทศ

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนค้นพบ 'ไวรัส' ใหม่ 8 สายพันธุ์ที่โลกไม่เคยรู้จักใน สัตว์ฟันแทะ ที่อาศัยอยู่บนเกาะไหหลำทางทะเลจีนใต้ ที่อาจก่อให้เกิด 'โรคเอ็กซ์' โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีนและมีเป้าหมายเพื่อแจ้งเตือนโลกให้พร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ของไวรัสที่เราไม่รู้จักในอนาคต 'ไวรัส' ที่ค้นพบมีหลากหลายสายพันธุ์รวมถึงไวรัสที่อยู่ในตระกูลเดียวกับ โควิด-19 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะแพร่ติดต่อมาสู่มนุษย์หากมีการกลายพันธุ์ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคด้านสายพันธุ์จากสัตว์มาสู่คน ก่อให้เกิด “โรคเอ็กซ์ (disease X)" ที่ องค์การอนามัยโลก หมายถึงบรรดาจุลชีพ หรือ ไวรัสก่อโรคที่เราไม่รู้จัก หรือ ยังรู้จักไม่เพียงพอซึ่งมีศักยภาพในการก่อให้เกิด โรคระบาด ร้ายแรงระหว่างประเทศ (Pandemic)

 

นักวิทยาศาสตร์ บางกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการทดลองกับไวรัสเหล่านี้เพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบถึงผลกระทบต่อมนุษย์ เพื่อเตรียมการในเรื่องวัคซีน ยาต้านไวรัส และแอนติบอดีสำเร็จรูป

 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านไม่เห็นด้วย เตือนว่าการทดลองกับเชื้อจุลชีพที่เราไม่รู้จักในสัตว์กลับมีความเสี่ยงสูง ได้ไม่คุ้มเสียเพราะนำมนุษย์เข้าใกล้ชิดกับบรรดาไวรัสในสัตว์ที่มนุษย์ไม่รู้จักอย่างผิดธรรมชาติ เพราะนักวิจัยจะนำเชื้อ 'ไวรัส' เหล่านี้มาเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับสูงที่มักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น เช่นในโรงพยาบาล อาจก่อให้เกิดการติดต่อมาสู่บุคลากรในห้องปฏิบัติการและแพร่มาสู่ญาติและผู้ใกล้ชิดนอกห้องปฏิบัติการจนเกิดการระบาดใหญ่ (pandemic) ครั้งใหม่ขึ้นได้  

 

 

ตัวอย่างเช่นการระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจนถึงขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงไม่ได้ข้อยุติว่าการระบาดของไวรัสดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงหรือดัดแปลงพันธุกรรมของไวรัสในสถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่นหรือไม่ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนยืนยันว่า โควิด-19 น่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ก้าวข้ามจากสัตว์ในตลาดสดเมืองอู่ฮั่นระบาดมาสู่คน (Zoonosis)

 

 

คณะวิจัย 'ไวรัส' ใน สัตว์ฟันแทะ บนเกาะไหหลำนำโดย ดร.เจียงตู่ จากห้องปฏิบัติการหลักของ NHC ด้านชีววิทยาระบบ (System biology) ของเชื้อโรค, สถาบันชีววิทยาเชื้อโรค, สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน และวิทยาลัยการแพทย์ปักกิ่งยูเนี่ยน, ปักกิ่ง, ได้ดำเนินการสวอปทวารหนักและลำคอบรรดาสัตว์ฟันแทะต่างๆ ที่จับได้ในเกาะไหหลำ ซึ่งมีประชาชนอยู่ในเกาะประมาณ 10 ล้านคน ในระหว่างปี 2560 ถึง 2564 จำนวน 682 ตัวอย่างแล้วนำมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมด้วยเทคนิค "เมตาจีโนมิกส์ทางคลินิก (clinical metagenomics)"

 

 

พบเชื้อ 'ไวรัส' อย่างน้อย 8 สายพันธุ์ใหม่ ที่มีรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมเกี่ยวข้องคล้ายคลึงอย่างมากกับบรรดาไวรัสเหล่านี้  

  • ไวรัสอารีน่า (arenavirus)
  • โคโรนาไวรัส (coronavirus)
  • แอสโตรไวรัส (astrovirus)
  • พาร์โวไวรัส (parvovirus) 
  • พาพิลโลมาไวรัส (papillomavirus)  
  • เพสติไวรัส (pestivirus)   
  • โบคาไวรัส (bocavirus)

 

 

จากการวิเคราะห์ระดับจีโนมเผยให้เห็น 'ไวรัส' สายพันธุ์ใหม่มากมายใน สัตว์ฟันแทะ ที่อาศัยอยู่ในเกาะไหหลำทางทะเลจีนใต้ รวมถึงโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า CoV-HMU-1 ซึ่งเป็น "เบตาโคโรนาไวรัส" สายพันธุ์ย่อยของตระกูลโคโรนาไวรัสซึ่งมี โควิด-19 ร่วมอยู่ด้วย

 

นอกจากนี้ยังพบไวรัสกลุ่มอื่นๆ กล่าวคือ

  • เพสติไวรัส ชนิดใหม่ 2 สายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับไข้เหลืองและไข้เลือดออก
  • แอสโรไวรัสชนิดใหม่ในตระกูลไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะ
  • พาร์โวไวรัส ชนิดใหม่ 2 สายพันธุ์ที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และ
  • พาพิลโลมาไวรัส ชนิดใหม่ 2 สายพันธุ์ อันเป็นกลุ่มไวรัสที่ก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศและก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในคนได้

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบ "เพสติไวรัส" และ "โบคาไวรัส" ชนิดใหม่ในหนูสองสายพันธุ์คือ "Edwards's long-tailed giant rat" และ "Sikkim rat" ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน

 

 

นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มนี้เตือนว่านอกจากค้างคาวแล้ว บรรดาสัตว์ฟันแทะที่เป็นพาหะนำโรคอาจเป็นภัยคุกคามร้ายแรงในแง่ของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เนื่องจากบรรดาสัตว์ฟันแทะมีการแพร่จำนวนได้อย่างรวดเร็วและมีความหลากหลายในสายพันธุ์ 

 

 

คณะผู้วิจัยกล่าวว่าผลลัพธ์จากการศึกษาครั้งนี้ได้ขยายความรู้ของเราเกี่ยวกับการจำแนกประเภทไวรัสด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมโดยอาศัยเทคนิคเมตาจีโนมิกส์ และขอบเขตของสัตว์รังโรคหรือโฮสต์ (host) และชี้ให้เห็นว่ายังมีไวรัสมากมายในหลายส่วนของโลกที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ (ในขณะนี้) ยังไม่ถูกค้นพบ ซึ่งไวรัสเหล่านี้มีการพัฒนาการกลายพันธุ์อย่างอิสระในสัตว์ป่าซึ่งวันหนึ่งอาจระบาดมาสู่คน จึงจำเป็นต้องศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันการระบาดด้วยวัคซีนและการรักษาด้วยยาต้านไวรัส

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ