ข่าว

เปิดเรื่องน่ารู้ของ 'จุฬาราชมนตรี' ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่อะไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดตำนาน 'จุฬาราชมนตรี' กับเรื่องน่ารู้ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีความสำคัญ ทำหน้าที่อะไร ใครดำรงตำแหน่ง ยาวนานที่สุด

ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” เรียกได้ว่า เป็นตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งของประเทศไทย การถึงแก่อนิจกรรมของ “อาศิส พิทักษ์คุมพล” จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 จึงต้องมีการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี คนใหม่... ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คืออะไร มีหน้าที่ และมีความสำคัญอย่างไร คมชัดลึก เปิดตำนาน จุฬาราชมนตรี นับตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน 

อาศิส พิทักษ์คุมพล

“จุฬาราชมนตรี คืออะไร”

 

 

“จุฬาราชมนตรี” เป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และเป็นตำแหน่งฝ่ายมุสลิม ให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะแก่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม มีประวัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในทำเนียบศักดินา ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำเนียบตำแหน่งขุนนาง ซึ่งในชั้นหลังเรียกว่า “กรมท่าขวา” มี “พระจุลาราชมนตรี” เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก คู่กับ หลวงโชฎึกราชเศรษฐี หัวหน้าฝ่ายจีน

 

 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัดที่นับถือนิกายชีอะหฺมาตลอด เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้ง โดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือนิกายสุหนี่ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของมุสลิมในประเทศไทย

                        จุฬาราชมนตรี

เริ่มแรกในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเมื่อปี 2488 โดยให้เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม จนกระทั่งปี 2491 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรี เป็นที่ปรึกษากรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

แต่หลังจากที่การประกาศใช้ พ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 กฎหมายฉบับนี้ ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจลักษณะ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน และกรรมการอื่นจากผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อ ซึ่งจะมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีนั้น เป็นหน่วยธุรการของจุฬาราชมนตรี

 

 

หน้าที่ของ จุฬาราชมนตรี

 

  • ให้คำปรึกษา และความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
  • แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
  • ประกาศผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
  • ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
  • เป็นประธานอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

 

 

ทั้งนี้ ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มีมาแล้ว 18 คน โดย นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นคนที่ 18 ส่วนผู้ประเดิมตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนแรก คือ เจ้าพระยาบวรราชนายก ปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปี 2145 ถึงปี 2170

 

 

แต่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” จะเป็นขุนนางฝ่ายขวา ซึ่งเป็นลูกหลานวงศ์เฉกอะหมัด ซึ่งนับถือนิกายชีอะฮ์ แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี จึงตกสู่สามัญชน คือ แช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 14 ถือเป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู และเป็นมุสลิมซุนนีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว และจุฬาราชมนตรีทุกคนหลังจากนี้ ทั้งหมดล้วนเป็นมุสลิมนิกายซุนนีอันเป็นนิกายที่ชาวมุสลิมในไทยนับถือ

                                ต่วน สุวรรณศาสน์

 

ด้วยตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ไม่มีกำหนดวาระ ว่าจะเป็น 4 ปี 6 ปี หรือ 10 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต โดย จุฬาราชมนตรีคนที่ 15 “ต่วน สุวรรณศาสน์” ในยุคท้ายๆ น่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด 34 ปี นับตั้งแต่ปี 2490 จนถึงวันที่ 22 มี.ค. 2524  

 

 

  • นายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 16 ปี
  • นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 17 ดำรงตำแหน่ง 7 ปี เพราะนับเป็นจุฬาราชมนตรี ที่เข้ารับตำแหน่งตอนอายุ 94 ปี และถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2553

 

 

และวันที่ 16 พ.ค. 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีมติให้นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้เป็น “จุฬาราชมนตรี” คนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2553 ก่อนถึงแก่อนิจกรรม วันที่ 22 ต.ค. 2566 นับเป็นการดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ยาวนาน 13 ปี

 

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ