ข่าว

กรุงเทพมหานคร ร่วม แอสตร้าเซนเนก้า รุกตรวจคัดกรอง 'มะเร็งปอด' เทคโนโลยี AI

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานลงนาม ความร่วมมือ  "Don’t Wait. Get Checked." ระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ   บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ รุกตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบในระยะเริ่มต้น ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI เป้าทำให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาว

ที่สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการลงนาม ความร่วมมือต่อยอดโครงการ  "Don’t Wait. Get Checked."
ระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ   บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด   ทั้งนี้โครงการ  Don’t Wait. Get Checked.  เป็นการมุ่งขยายการเข้าถึงบริการและการรักษาทางการแพทย์ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรอง มะเร็งปอด เบื้องต้นด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วกรุงเทพมหานคร 

 

 

 


ความร่วมมือระหว่างแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อเป้าหมายในการเพิ่ม  อัตราการรอดชีวิตห้าปี  ของผู้ป่วยให้เป็นสองเท่า ภายในพ.ศ. 2568 ของ Lung Ambition Alliance (LAA) ที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติ 4 องค์กร ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า Global Lung Cancer Coalition (GLCC) Guardant Health และ International Association for the Study of Lung Cancer (IASLC) มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุพันธกิจใน 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าในการดูแลรักษาโรค "มะเร็งปอด"

 

 

 

 

.

นำเทคโนโลยี AI  มาช่วยพัฒนาการตรวจคัดกรอง

.

 

ผ่านการส่งเสริมการตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับโรคมะเร็งปอด เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบในระยะเริ่มต้นให้มีประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น   ทั้งนี้  โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย ที่มีอัตราการเสียชีวิตกว่า 80,000 คน ต่อปี โดยมีมะเร็งปอดเป็นสาเหตุอันดับต้นของการเสียชีวิต

 

 

 

โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมักตรวจพบในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้น การนำเทคโนโลยี AI  มาช่วยพัฒนาการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงสานต่อการดำเนินงานภายใต้โครงการ  Don’t Wait. Get Checked.

 

 

 

 

โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นไปแล้วกว่า 7,000 ราย ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ป่วยที่ตรวจพบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอด 586 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 และพบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอด ที่มีโอกาสความน่าจะเป็นในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูง ถึงร้อยละ 0.3 อีกด้วย

 

 

 

 

.

กทม.หวังเห็นการเข้าถึงการรักษาทันท่วงที

.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ( กทม. )กล่าวว่า  การสร้างสุขภาพที่ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี และลดผลกระทบด้านสุขภาพให้กับประชาชนถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ โดยมีความตั้งใจที่จะยกระดับบริการด้านสาธารณสุขด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งโครงการ Don’t Wait. Get Checked. จาก  แอสตร้าเซนเนก้า ที่นำเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

 

 

 

เบื้องต้นได้ตอบโจทย์และส่งผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนนโยบายของ กทม. ภายใต้โครงการ Bangkok Health Zoning ผ่านการทำ Preventive Urban Medicine (การป้องกันโรคสำหรับคนในเขตเมือง) เพื่อส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพ และส่งเสริมความรู้ให้ชุมชนในระดับเส้นเลือดฝอย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนสามารถ เข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมยิ่งขึ้น ซึ่งผลการศึกษาจากการทำวิจัยในโครงการฯ นี้ ทางกรุงเทพมหานคร  จะนำมาพิจารณาเพื่อนำไปสู่นโยบายสุขภาพของกรุงเทพมหานคร  อีกต่อไป

 

.

เป้าคัดกรอง 5 แสนราย ในปี 67 

.


นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย กล่าวว่า  แอสตร้าเซนเนก้า มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผ่านการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน ชุมชน และโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งโรคมะเร็งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหลักที่ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

โดยได้ค้นคว้า คิดค้น และสนับสนุนนวัตกรรมที่จะมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นผ่านการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับเส้นทางสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมและก้าวไปสู่การดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล จากความร่วมมือในครั้งนี้  ตั้งเป้าหมายที่จะทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นแก่ประชาชนกว่า 500,000 รายให้ได้ภายในปี 2567 เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยต่อไป

 

 

 

สำหรับเทคโนโลยี AI หรือซอฟต์แวร์ qXR  ที่นำมาติดตั้งในโครงการนี้ ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Qure.ai บริษัทผู้พัฒนาโซลูชั่น AI ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของแอสตร้าเซนเนก้า ที่สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น  ซึ่งโซลูชั่นนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นเครื่องมือแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ ที่นำความสามารถในการเรียนรู้เชิงลึกมาระบุความผิดปกติจากภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดได้สูงสุด 29 รายการ รวมไปถึงการระบุขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ หรือร่องรอยอาการที่อาจบ่งชี้โรคมะเร็งปอดได้อย่างแม่นยำ

 

 

 

 

นายปราชานต์ วอร์ริเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Qure.ai กล่าวว่า  ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI อันล้ำสมัยของ Qure หรือ  qXR   จะวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมคัดกรองเบื้องต้นเพื่อระบุความเสี่ยงมะเร็งปอด โดยจะมีบทบาทสำคัญในการตรวจหาก้อนเนื้อในปอด ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้ เมื่อมีการระบุก้อนเนื้อที่น่าสงสัยในปอดแล้ว ผู้ป่วยจะได้เข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ทันที เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที 

 

 

 

จุดคัดกรองเคลื่อนที่ และโรงพยาบาลในเครือของกรุงเทพมหานคร
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
โรงพยาบาลสิรินธร
โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
หน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่สำนักอนามัย
 

กรุงเทพมหานคร ร่วม แอสตร้าเซนเนก้า รุกตรวจคัดกรอง 'มะเร็งปอด' เทคโนโลยี AI

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร ร่วม แอสตร้าเซนเนก้า รุกตรวจคัดกรอง 'มะเร็งปอด' เทคโนโลยี AI

โรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

 

กรุงเทพมหานคร ร่วม แอสตร้าเซนเนก้า รุกตรวจคัดกรอง 'มะเร็งปอด' เทคโนโลยี AI

การลงนาม ความร่วมมือต่อยอดโครงการ  "Don’t Wait. Get Checked." ระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ   บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

กรุงเทพมหานคร ร่วม แอสตร้าเซนเนก้า รุกตรวจคัดกรอง 'มะเร็งปอด' เทคโนโลยี AI

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ