23 กันยายน วัน 'ศารทวิษุวัต' กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ฤกษ์ดี ขอขมากรรม
วันที่ 23 กันยายน วัน 'ศารทวิษุวัต' พาไปทำความเข้าใจ คือวันอะไร พร้อมเปิด บทสวด ขอขมากรรม เพราะถือเป็น ฤกษ์ดี แก้ดวงติดขัด
วัน “ศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) คือวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้ ตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นทุกวันที่ 22 หรือ 23 กันยายน
สำหรับวัน “ศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” โดยวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้ จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)
สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าว ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:13 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้ จากนั้น ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อยๆ จนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนกลับทางเหนืออีกครั้ง
ในรอบ 1 ปี เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้
- วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี
- วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เป็นวันที่ ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี
- วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี
- วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว”
สำหรับปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ในปี 2566 คือ “วันเหมายัน” (Winter Solstice) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 ธ.ค. 2566
ทั้งนี้ ในวันที่ 23 กันยายน นอกจากเป็นวัน “ศารทวิษุวัต” แล้ว ตามความเชื่อ ยังถือเป็นวันฤกษ์ดี จุดธูป 18 ดอก ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน คำสาปแช่ง ที่ติดตัวมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยจุดธูปไหว้ใน เวลา 06.09-18.09 น. ช่วงเช้ามืด พระอาทิตย์เริ่มขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เนื่องจากในวันและเวลาดังกล่าว มีความเชื่อว่าเป็นห้วงเวลามิติแต่ละภพเชื่อมต่อกันนั่นเอง
วิธีการจุดธูปขอขมา
- จุดธูป 18 ดอก
- หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลางแจ้งหรือในร่มก็ได้
- ถ้าอยู่ในร่มหันหน้าไปหาพระหรือทิศใดก็ได้ตามสะดวก
- ตั้งนะโม 3 จบ
บทขอขมากรรม
อิมัง มิจฉา อธิษฐานัง ปันจุทัด ธาราปิ
ทุติยัมปิ อิมัง มิจฉา อธิษฐานัง ปันจุทัด ธาราปิ
ตะติยัมปิ อิมัง มิจฉา อธิษฐานัง ปันจุทัด ธาราปิ
บอกชื่อ ข้าพเจ้า นาย.. นางสาว ขอถอดถอนคำอธิษฐาน ขอถอดถอนคำสาบาน คำสาปแช่ง ขอถอดถอนคำบนบานศาลกล่าว ขอถอดถอนคำสัญญา ที่ข้าพเจ้าได้ตั้งขึ้น พร้อมแล้วด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยอุปทาน ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ ด้วยมานะ ด้วยมิจฉาทิฐิ ที่ข้าพเจ้าอธิษฐานไว้ สาบานไว้ สัญญาไว้ ด้วยในอดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาติก็ดี ข้าพเจ้าน้อมขออำนาจพระบารมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระรัตนตรัยและเทพพรหมทั้ง 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน แม่พระธรณีได้โปรดเป็นทิพย์ พยานในการที่ข้าพเจ้าขอถอดถอนคำเหล่านั้น ถอนคำแช่งคำสาบาน คำสัญญาร้อยหนพันหน ณ บัดนี้ด้วยเทอญ