ผู้เชี่ยวชาญ ตอบชัด 'อุณหภูมิ' ใน ห้องเรียน มีผลต่อ การศึกษา ของเด็กหรือไม่
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มีคำตอบ 'อุณหภูมิ' ใน ห้องเรียน มีผลต่อ การศึกษา ของเด็กหรือไม่ พร้อมยกงานวิจัย อธิบายชัดเจน
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับ 'ห้องเรียนปลอดฝุ่น' ซึ่งล่าสุด มติ สภากรุงเทพมหานคร ได้ตัดงบโครงการดังกล่าวมากกกว่า 219 ล้านบาท โดยชี้ว่าไม่คุ้มค่า อาจแก้ไม่ถูกวิธี
ล่าสุด ทาง ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nattavudh Powdthavee - ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ 'อุณหภูมิ' ว่ามีผลต่อ การศึกษา ของเด็กหรือไม่
'อุณหภูมิ' และความสำเร็จทาง การศึกษา
คุณคิดว่า 'อุณหภูมิ' มีผลต่อ การศึกษา ของเด็กไหมครับ ใน งานวิจัย ของ Heather Randell และ Clark Gray ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the National Academy of Science (PNAS) พวกเขาทั้งสองได้ทำการเชื่อมข้อมูลอุณภูมิและอัตราฝนตกตั้งแค่ที่เด็กยังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่และตอนที่เด็กมีอายุได้ไม่กี่ปีกับข้อมูลผลการศึกษาของเด็กในวัย 12-15 ปี พวกเขาพบว่าในประเทศในเอเชียอาคเนย์นั้น เด็กที่โตในที่ๆ มี อุณหภูมิที่สูงกว่าปกติส่วนใหญ่มักจะโตขึ้นไปมีการศึกษาที่ต่ำกว่าเด็กที่โตในที่ๆ มี 'อุณหภูมิ' ปกติ เด็กที่โตในสถานที่ๆ มี 'อุณหภูมิ' 2 standard deviation สูงกว่าปกติจะอยู่ในระบบการศึกษาน้อยกว่าประมาณ 1.5 ปีด้วยกัน (ดูได้จากกราฟข้างล่างนะครับ ยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไหร่ จำนวนปีที่เด็กจะอยู่ในระบบการศึกษาก็จะน้อยลงตามๆ กันไปเท่านั้น)
เพื่อนๆ หลายคนพอได้อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะคิดว่า แต่นั่นมันไม่ใช่ผลกระทบของอุณหภูมิในห้องเรียนต่อการเรียนของเด็กนี่นา มันเป็นผลกระทบระยะยาวของ early-life อุณหภูมิต่อผลการเรียนมากกว่า
ถูกต้องครับ แต่ใน งานวิจัย ที่ถูกนำโดย Jisung Park นักเศรษฐศาสตร์ (ไม่ใช่นักบอล) จากมหาวิทยาลัย UPenn ได้ใช้ข้อมูลของนักเรียนถึง 10 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามาวิเคราะห์และพบว่า ถ้าวันสอบ PSATs เป็นวันที่มีอากาศร้อนมากๆ ผลการสอบของเด็กจะออกมาไม่ค่อยดี พวกเขาพบว่า ใน ห้องสอบที่ไม่ติดแอร์ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1°F (หรือประมาณ 0.55°C) จะมีผลกระทบทางด้านลบต่อการเรียนของเด็กประมาณ 1% และเขายังพบอีกว่าการเรียนในห้องที่มี อุณหภูมิสูง นั้นสามารถอธิบายช่องว่างระหว่างเด็กผิวขาวและเด็กผิวสี (racial gap) ในผลของ การศึกษา ได้ถึง 5% ด้วยกัน
สรุปคืออะไร สรุปคือ 'อุณหภูมิ' เป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนเช่นบ้านเรา และถ้า การศึกษา เป็นตัวแปรสำคัญของการต่อสู้กับความจน การที่เด็กรวยที่มีโอกาสได้รับการเรียนในห้องที่ติดแอร์ และเด็กจนที่ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนในห้องที่ติดแอร์อีกต่อไป จะยิ่งส่งผลทำให้ educational gap และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของพวกเขาในอนาคตมันยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เราอาจจะไม่คาดการณ์มาก่อนก็ได้นะครับ
ป.ล. มีบางคนกำลังตั้งข้อสงสัยว่ามันอาจจะไม่ใช่ผลจาก 'อุณหภูมิ' เลยก็ได้นะ มันอาจจะมาจากคนรวยและคนจนมีพลังทรัพย์ที่แตกต่างกัน ลูกคนรวยเรียนดีกว่าลูกคนจน แล้วก็แค่ลูกคนจนเรียนในโรงเรียนที่ไม่ติดแอร์เท่านั้นเอง
แต่ถ้าเราอ่านเปเปอร์ของ Jisung Park ให้ดีๆ ล่ะก็ เราก็จะเห็นว่าโมเดลของเขาได้ take into account ความแตกต่างของรายได้ตาม school district เป็นที่เรียบร้อย ยิ่งไปกว่านั้น โมเดลของพวกเขาเป็นโมเดล student fixed effects หรือพูดง่ายๆ ก็คือการติดตามเด็กคนเดียวกันไปเรื่อยๆ ซึ่งโมเดลของ student fixed effects นั้นช่วยขจัดปัญหาของ socio-economic differences เวลาที่เราเปรียบเทียบเด็กรวยและเด็กจน เพราะมันเป็นเด็กคนเดียวกันแต่วัดกันคนละช่วงเวลาเท่านั้น มีสิ่งที่แตกต่างอย่างเดียวก็คือ 'อุณหภูมิ' ของวันสอบ PSAT ที่พวกเขาต้องสอบสองครั้งในเวลาที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง