ข่าว

รายแรก ผู้ติดเชื้อ 'HIV' ป่วย 'ฝีดาษลิง' เสียชีวิต เตือน กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรค พบ ผู้ติดเชื้อ 'HIV' ป่วย 'ฝีดาษลิง' เสียชีวิต รายแรกในไทย ขณะที่ สถานการณ์ 'ฝีดาษลิง' เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เร่งรัดทุกจังหวัดเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วย โรคฝีดาษวานร หรือ 'ฝีดาษลิง' จากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยาและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 

 

 

ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน และมีผื่นและตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีในวันที่ 11 ก.ค. 2566 แพทย์สงสัยเป็น โรคฝีดาษวานร จึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของ ไวรัสฝีดาษวานร และขณะเดียวกันยังตรวจพบการติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) และ เชื้อซิฟิลิส 

 

ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจาก โรคฝีดาษวานร กระจายทั่วตัว ได้รับการรักษา จนครบ 4 สัปดาห์แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้

 

 

ต่อมาวันที่ 9 ส.ค. 2566 ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบว่ามีผื่นจาก โรคฝีดาษวานร กระจายทั่วตัว และมีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูกและคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขนและขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อ มล. แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ ยาต้านไวรัสฝีดาษวานร และยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2566

 

โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย สถานการณ์ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 รายในไทย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43)

 

 

ปัจจัยเสี่ยงหลักคือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัย ฝีดาษวานร หรือผู้ป่วย ฝีดาษวานร ให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย

 

 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ โรคฝีดาษวานร ระบาดเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วย 'ฝีดาษลิง' รายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว มักมีการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นร่วมด้วยได้ง่ายทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยฝีดาษวานรเสียชีวิต 152 รายแล้วตั้งแต่เริ่มการระบาดในยุโรปและหลายประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

 

 

โดยปัจจุบันประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (หรือ TPOXX) จำนวนหนึ่งจากองค์การอนามัยโลกมาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน

 

 

ทั้งนี้ 'ฝีดาษลิง' สามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น จึงขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงและสื่อสารวิธีการป้องกันแพร่เชื้อโดยงดการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าและไม่สัมผัสแนบเนื้อผู้มีอาการสงสัยโรคฝีดาษวานร โดยหากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ