ข่าว

PDPC ติวเข้ม 'สื่อมวลชน' ทำข่าวอย่างไร ไม่ละเมิด 'กฎหมาย PDPA'

09 ส.ค. 2566

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC ติวเข้ม 'สื่อมวลชน' นําเสนอข่าว ไม่กระทบสิทธิบุคคลอื่น และไม่ละเมิด 'กฎหมาย PDPA'

“กฎหมาย PDPA” หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เริ่มประกาศใข้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ “สื่อมวลชน” เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น การบังคับใช้จากกฎหมาย PDPA ทั้งฉบับ

 

 

 

 

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส. : PDPC) จึงได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับสื่อมวลชน ร่วมกับผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมาย PDPA และกิจการสื่อ ให้ความรู้เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กับการละเมิด “กฎหมาย PDPA” เพื่อสร้างแนวทางให้สื่อมวลชน สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมีขอบเขต ไม่กระทบต่อบุคคลอื่น และช่วยให้ประชาชน เข้าใจขอบเขตการทำหน้าที่สื่อมวลชน พร้อมรักษาสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้อย่างมีคุณภาพ

 

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้เชี่ยวชาญตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ กล่าวว่า จากการประกาศใช้ กฎหมาย PDPA ที่ได้กระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ และเข้าใจความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งในฝั่งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลและฝั่งของผู้ที่มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ทำหน้าที่ หรือกิจการ ‘สื่อมวลชน’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้จากกฎหมาย PDPA ทั้งฉบับ

 

 

 

 

ทั้งนี้ การยกเว้นบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ในสื่อมวลชน เป็นการยกมาจากรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสดงออก และรายงานข่าว แต่ขณะเดียวกัน ตัวกฎหมาย PDPA ก็ได้กำหนดขอบเขตในการยกเว้นการบังคับใช้ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนละเมิดต่อการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลอย่างผิดวัตถุประสงค์ โดยระบุว่า การยกเว้นนี้ จะยกเว้นให้เท่าที่เป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

 

 

 

 

ดังนั้น ในทางกลับกัน หากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้นไม่เป็นไปตามจริยธรรมฯ เกินความจำเป็น และไม่เกิดประโยชน์กับสาธารณชน สื่อมวลชนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA และหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็อาจมีความรับผิดทางแพ่ง มีโทษทางอาญา และทางปกครองได้เช่นเดียวกัน

 

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ

ด้าน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จัดทำโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ให้นิยามของคำว่า “สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชน โดยการขอใบอนุญาต หรือโดยการขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชนตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้สื่อมีความแตกต่างจากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ หรือกลุ่มคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ที่ไม่เข้าข่ายยกเว้นจากกฎหมาย PDPA

 

 

               

“ประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ทุกการนำเสนอข่าว จะต้องมีความครบถ้วน เป็นธรรม รวมถึงต้องมีมาตรการจัดการที่เป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นั่นคือ หากมีบุคคลได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว คนๆ นั้นจะสามารถแจ้งต่อสื่อมวลชน เพื่อลบข้อมูลที่ไม่ต้องการเผยแพร่ได้ ทั้งนี้ ตัวสื่อมวลชนเองก็ต้องมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Security) เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Breach) รวมถึงเพื่อป้องกันการเกิดช่องโหว่ ปล่อยให้มีคนนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้ได้”

 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

 

 

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่กฎหมาย PDPA ให้การยกเว้นในกิจการสื่อมวลชน ยังรวมถึงงานศิลปกรรม หรือวรรณกรรม อันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แปลว่าภาพถ่ายประกอบการนำเสนอข่าว จึงไม่เป็นการละเมิด PDPA ยกเว้นว่าภาพถ่ายนั้น ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ สร้างผลกระทบกับบุคคลอื่น ถูกนำไปใช้ทางการตลาด หรือแสวงหาผลกำไร จึงจะนับว่าภาพถ่ายนั้นละเมิดต่อกฎหมาย PDPA

 

 

 

หรือในกรณีที่นำเสนอข่าว โดยใช้ภาพถ่าย หรือวิดีโอจากบุคคลอื่น สื่อมวลชนต้องระมัดระวังเรื่องการปกปิดตัวตน บุคคลในภาพ และต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาเนื้อหานั้นด้วย เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎหมาย PDPA รวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาท และ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์