ข่าว

'EG.5.1' โอไมครอน รุ่นเหลน แพร่เชื้อไวกว่า XBB.1.16 ถึง 52% เตือนไทยอย่าวางใจ

'EG.5.1' โอไมครอน รุ่นเหลน แพร่เชื้อไวกว่า XBB.1.16 ถึง 52% เตือนไทยอย่าวางใจ

11 ก.ค. 2566

'EG.5.1' โอไมครอน รุ่นเหลน XBB.1.9 แพร่เชื้อไวกว่า XBB.1.16 ถึง 52% 'หมอธีระ' เตือนไทยอย่าวางใจ ยังพบการติดเชื้อ โควิด19 ต่อเนื่อง

'หมอธีระ' รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เปิดเผยข้อมูล การพบ โอไมครอน รุ่นเหลนตัวใหม่ 'EG.5.1' ซึ่งเป็นเหลนของ XBB.1.9 เมื่อเทียบตัวต่อตัวแล้ว มีสมรรถนะการขยายตัวของการระบาดมากกว่า XBB.1.16 ที่ครองการระบาดทั่วโลกขณะนี้ถึง 52%

 

อัพเดตความรู้เรื่อง วัคซีนโควิด

 

Novavax นำเสนอข้อมูลการศึกษาในหนูและลิง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ ที่ประชุมของ US FDA VRBPAC แอนติบอดี้ที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนรุ่นเดิมนั้น ความสามารถในการจัดการไวรัสจะอยู่ในระดับต่ำลงมากเมื่อเจอกับ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1

 

ในกรณีที่ได้รับวัคซีนแบบสายพันธุ์เดี่ยว (monovalent) รุ่นเดิมมาก่อน 2 เข็ม แล้วได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนแบบ monovalent ที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ XBB.1.5 หรือ XBB.1.16 จะทำให้มีระดับแอนติบอดี้ที่สูงขึ้นมากสำหรับจัดการกับสายพันธุ์ XBB.1.5 และ XBB.1.16

 

ทั้งนี้การได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีน monovalent ที่จำเพาะต่อ XBB.1.16 นั้นดูจะได้ผลมากกว่า XBB.1.5 เพราะมีระดับแอนติบอดี้ต่อ XBB.1.5 พอๆ กันกับการกระตุ้นด้วย monovalent vaccine ที่จำเพาะต่อ XBB.1.5 แต่มีระดับแอนติบอดี้ต่อ XBB.1.16 สูงกว่า 

 

Novavax ยังเปรียบเทียบให้เห็นว่า การฉีดวัคซีน monovalent ที่จำเพาะต่อ XBB.1.5 จำนวน 2 เข็ม จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อ XBB.1.5 และ XBB.1.16 ได้สูงกว่าการฉีดวัคซีนแบบ Bivalent ที่ใช้สายพันธุ์ดั้งเดิมและ XBB.1.5 อย่างละครึ่ง

 

ที่น่าสนใจต่อมาคือ หากเปรียบเทียบระหว่างการฉีดวัคซีนแบบ Bivalent (สายพันธุ์ดั้งเดิม + BA.5) 2 เข็ม กับการที่ได้รับเข็มกระตุ้นเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น Monovalent XBB.1.5 หรือ XBB.1.16 แล้ว จะพบว่า การฉีดกระตุ้นด้วย monovalent XBB.1.5 และ monovalent XBB.1.6 จะช่วยให้กระตุ้นภูมิได้เพิ่มขึ้นมาก

 

สุดท้ายแล้วได้ศึกษาในลิง โดยเปรียบเทียบระหว่างการ ฉีดวัคซีน แบบดั้งเดิม 2 เข็มและกระตุ้นด้วย monovalent XBB.1.5, ฉีดวัคซีนที่จำเพาะกับ BA.5 2 เข็มตามด้วยเข็มกระตุ้นด้วย monovalent XBB.1.5, และฉีดวัคซีนแบบ Bivalent (สายพันธุ์ดั้งเดิม+BA.5) 2 เข็มตามด้วยกระตุ้น monovalent XBB.1.5 พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิต่อ XBB.1.5 และ XBB.1.16 ได้ดีขึ้นทั้งหมด แต่กลุ่มที่ได้วัคซีนแบบดั้งเดิมมาก่อนสองเข็มนั้นจะมีระดับภูมิต่ำกว่าอีกสองกลุ่มพอสมควร

 

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่เราเรียนรู้จากผลการศึกษาต่างๆ ข้างต้นคือ ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนรุ่นดั้งเดิมนั้นดูจะไม่เพียงพอสำหรับไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.x ที่ระบาดทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสายพันธุ์ของ ไวรัสโควิด19 นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับไวรัสดั้งเดิมที่เริ่มระบาดเมื่อหลายปีก่อน วัคซีนที่ใช้เพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอนาคตนั้น จะได้ผลดียิ่งขึ้น หากใช้เป็นสายพันธุ์ที่จำเพาะต่อ XBB.x

 

มาถึงจุดนี้ ทำให้เราได้เข้าใจชัดเจนถึงเหตุผลที่ทางอเมริกา รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับ วัคซีนเข็มกระตุ้น ในอนาคตที่จะใช้เป็นแบบ monovalent นั่นเอง

 

 

การระบาดในไทย

 

สถิติการระบาดในไทยรายสัปดาห์ล่าสุด 2-8 ก.ค. 2566 พบจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,193 ราย เสียชีวิต 25 ราย จำนวนผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ 214 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 144 ราย แม้จำนวนคนเสียชีวิต ปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจจะลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลกลับเพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 38.9%

 

คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน อย่างน้อย 8,522-11,836 ราย เคยเตือนไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า แม้ไทยเราจะเป็นขาลงมาราว 4 สัปดาห์ติดต่อกันแล้ว แต่อาจมีการปะทุขึ้นมารุนแรงอีกได้ เพราะการระบาดที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า 'โควิด19' ไม่ใช่การระบาดตามฤดูกาล แต่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงที่มีมากตั้งแต่ก่อนสงกรานต์และสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการป้องกันตัวอย่างดีพอ รวมถึงการเปิดเทอมของเด็กนักเรียน

 

อีกบทเรียนหนึ่งในอดีตคือ ระลอกที่ 3 ที่เกิดจากอัลฟ่า แล้วต่อด้วยเดลต้าในช่วงเวลาติดกัน จนทำให้มีการระบาดรุนแรงเริ่มตั้งแต่กลางปี 2564 ทำให้มีการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเป็นช่วงที่มาตรการป้องกันต่างๆ ไม่เข้มแข็งพอ