ข่าว

'ไข้เลือดออก' สายพันธุ์ 2 ระบาดหนัก หมอมนูญ เตือน ห้ามกินยาจำพวกนี้เด็ดขาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ไข้เลือดออก' สายพันธุ์ 2 กลับมาระบาดหนัก 'หมอมนูญ' ยกเคส เตือน เจออาการตามนี้ ให้ระวัง ห้ามกินยาจำพวกนี้เด็ดขาด

'หมอมนูญ' นพ. มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โดยยกเคส ผู้ป่วยชายอายุ 39 ปี ปกติแข็งแรงดี มาพบแพทย์วันที่ 23 มิ.ย. 2566 เพราะมีไข้สูง 2 วัน อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ไม่เจ็บคอ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ท้องไม่เสีย ไม่มีผื่นขึ้นตามตัว ปัสสาวะปกติ ไม่มีประวัติเดินทาง ไม่มีสัตว์เลี้ยง กินยาพาราเซตามอล ไข้ไม่ลง

 

 

จากการตรวจร่างกายพบว่าปกติ ความดันปกติ ไม่มีผื่นตามตัว เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวต่ำเล็กน้อย 3,760 เกร็ดเลือดปกติ 152,000 ค่าตับค่าไตปกติ ตรวจเลือด Dengue NS1 Antigen ให้ผลบวก ส่งเลือดตรวจ Dengue PCR พบ Dengue type 2

 

 

สรุปเป็น 'ไข้เลือดออก' สายพันธุ์ที่ 2 แนะนำให้พักผ่อน นอนหลับ ดื่มน้ำให้เพียงพอ กินยาพาราเซตามอลตามอาการ แต่ไข้มักจะไม่ลง วันที่ 27 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ที่เริ่มมีไข้ มีผื่นแดงขึ้นที่หลังเท้าทั้งสองข้าง ไม่คัน มีปวดศีรษะ เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวต่ำเล็กน้อย 3,430 เกร็ดเลือดต่ำเล็กน้อย 134,000 วันที่ 28 มิ.ย. หลังจากมีไข้ 7 วัน ไข้ลง คนไข้สบายตัวขึ้น

 

 

ขณะนี้เราอยู่ในช่วงฤดูฝน โรคไข้เลือดออก กลับมาระบาดอีกครั้ง ขอให้ระวังตัวอย่าให้ถูกยุงลายกัด คนที่เป็น 'ไข้เลือดออก' ห้ามกินยาแอสไพริน และยากลุ่มเอ็นเสด NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน เพื่อลดไข้ เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น

 

 

หมอมนูญ

 

'ไข้เลือดออก' (Dengue hemorrhagic fever)

 

สาเหตุของโรค

 

เกิดจาก ไวรัสเดงกี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อตรั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อค หรือเสียชีวิต โรคนี้พบมาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
 

 

การติดต่อ

 

โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน โดยมี ยุงลาย (Aedes aegypt ) เป็นพาหะที่สำคัญ ยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในยุงหลังจากนั้นยุงจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวตลอดอายุของมัน (ประมาณ 1-2 เดือน) และสามารถถ่ายทอดเชื้อให้คนที่ถูกมันกัดได้ ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ภายในบ้านและบริเวณบ้าน มักจะกัดเวลากลางวัน แหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำใสที่ขังอยู่ตามภาชนะเก็บน้ำต่างๆ เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ กระถาง ยางรถ เป็นต้น โดยทั่วไปโรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เนื่องจากเด็กมักอยู่ในบ้านมากกว่าฤดูอื่นๆ และยุงลายมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูฝน แต่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ อาจพบโรคนี้ได้ตลอดปี

 

 

อาการ

 

ในการติดเชื้อ ไวรัสแดงกี ครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) จะไม่แสดงอาการ ผู้มีอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจเป็นไข้เลือดออก ซึ้งมีอาการสำคัญแบ่งแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ

 

1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน

 

2. ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง

 

3. ระยะพักฟื้น อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

 

 

การวินิจฉัย

 

เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกในการวินิจฉัย โรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูง มีเลือดออกง่าย (ทดสอบโดยการรัดแขนแล้วพบจุดเลือดออกตามร่างกาย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน) เจ็บชายโครงขวาเนื่องจากตับโต ช็อค ตรวจเลือดพบเกล็ดเลือดต่ำ เลือดข้นขึ้น และอาจตรวจน้ำเหลืองหรือเพาะเชื้อไวรัสจากเลือด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ในระยะ 1-2 วันของไข้ อาจมีอาการไม่ชัดเจน ผลเลือดอาจจะยังปกติ จึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและเจาะเลือดซ้ำถ้าอาการไม่ดีขึ้น
 

 

การรักษา

 

เนื่องจากยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อ ไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง ห้ามให้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ยาแก้คลื่นใส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อคได้ ระยะที่เกิดช็อคส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมๆกับช่วงที่ไข้ลดลง ผู้ปกครองควรทราบอาการก่อนที่จะช็อค คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อมๆกับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

 

การป้องกัน

 

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งแม้ในเวลากลางวัน
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รวมทั้งบริเวณรอบๆบ้าน
  • ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำทุง 7 วัน เช่น แจกัน
  • กำจัดภาชนะแตกหักที่ขังน้ำ เช่น ยางรถเก่า กระถาง
  • เลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัวหรือแหล่งน้ำอื่นๆ
  • ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะอื่นๆให้มิดชิด หรือใส่ทรายเคมี กำจัดลูกน้ำ (Temephos)ในภาชนะที่เก็บน้ำไว้ใช้
  • ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว

 

 

โรคไข้เลือดออก

 

 

ข้อมูล : มหาวิทยาลัยมหิดล

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ