ข่าว

'ด่าแบบไหนฟ้องได้' ด่าแบบไหนไม่ถูกฟ้อง เช็ก 16 คำด่า เสี่ยง ติดคุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็กก่อนพลาด หลุดประโยคด่าใคร กับ 16 คำด่า 'ด่าแบบไหนฟ้องได้' ด่าแบบไหนไม่ถูกฟ้อง รวมคำพิพากษาศาลฎีกา จาก คำด่า ผิดกฎหมาย เสี่ยงติดคุก

ใครคิดจะระเบิดอารมณ์ ด้วย การด่า โปรดจงระงับอารมณ์ รวบรวมสติ ก่อนด่าคนอื่น เพราะหากขืนไปด่าใครโดยพล่อยๆ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 'ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า'

 

 

 

 

 

“ด่าแบบไหนฟ้องได้” ด่าแบบไหนไม่ถูกฟ้อง คมชัดลึก รวบรวม 16 คำด่า และ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่วางหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับดูหมิ่นซึ่งหน้า ว่าคำด่าอะไรบ้าง ที่เป็นความผิดตามกฎหมาย เพราะหากเผลอหลุดออกจากปากไป โดยไม่ยั้งคิด มีสิทธิติดคุกแน่

 

       ภาพประกอบ ด่าแบบไหนโดนฟ้อง

คำด่า กับ คำหมิ่นประมาท แตกต่างกันอย่างไร ด่าแบบไหนฟ้องได้

 

 

 

 

อาจารย์กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ นักวิทย์ศิลป์ อธิบายว่า “คำด่า” (ม.393) คือ คำพูดจาที่หยาบคาย รับไม่ได้ เป็นคำที่ทำให้ผู้ถูกด่ารู้สึกตัวเองว่า ด้อยค่า ต้อยต่ำมากๆ (เป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย) เช่นที่ได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง ไอ้ เหี้ย ไอ้สัตว์ ไอ้คว_ ซึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกา เขียนไว้ว่า การด่า ไอ้เหี้ย นั้น  คนเราทุกคน ไม่สามารถเป็นเหี้ยได้ (พูดง่ายๆ ด่าให้ตาย คนที่ถูกด่า มันแปลงร่างเป็นสิ่งที่ถูกด่าไม่ได้) แบบนี้เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

 

 

 

คำหมิ่นประมาท (ม.328) คือ คำพูดคำจาที่เป็นเรื่องเป็นราว การใส่ความ ใส่ร้ายคนอื่น หรือพูดถึง พาดพิงคนอื่นในทางที่ไม่เป็นความจริง หรือแม้ว่าจะเป็นความจริง ถ้าพูดแล้วทำให้เสียหาย ก็มีความผิดเหมือนกัน เช่น ถ้อยคำที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง เช่น ไอ้นี่มันทุจริต, มันขี้ฉ้อตอแหล ,มันคดโกง ,มันชอบขโมยเงินชาวบ้าน, มึงชอบเป็นเมียน้อยเขา , มึงมันสำส่อน ฯลฯ หากมันเป็นเรื่องจริงให้ตายยังไง ผู้พูดจาแบบนั้นก็มีความผิด เพราะไปทำให้เกิดความเสียหายกับคนที่ตัวเองไปว่านั่นเอง ย่อมเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328

 

 

 

แต่หากความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด รูปถ่าย ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ สื่อแบบไหนก็ตาม แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

 

ภาพประกอบ ด่าแบบไหนฟ้องได้

สรุป

 

การด่ากันหยาบคายต่อหน้ากัน 2 คน ว่า ไอ้เหี้ย ไอ้ควาย ไอ้สัตว์ หรือ ไอ้ชั่ว เรียกว่าเป็น “คำด่า” ซึ่งเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า จะมีความผิดตามมาตรา 393 แต่หากเผอิญว่า ด่าหยาบคายกันท่ามกลางคนจำนวนมาก มีบุคคลที่ 3 ได้ยินสิ่งที่ด่ากันนั้น ก็จะมีความผิดเป็น “คำหมิ่น” ตามมาตรา 328 ซึ่งเรียกว่า “หมิ่นประมาท” ร่วมด้วย เรียกว่าด่าครั้งเดียว มีความผิด 2 ฐานความผิดทั้งมาตรา 393 ดูหมิ่นซึ่งหน้า พ่วงด้วย มาตรา 328 หมิ่นประมาท

 

 

ด่าแบบไหนฟ้องได้

 

1. อีดอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2521 จำเลยถ่มน้ำลายไปทางผู้เสียหายและด่าผู้เสียหายว่า พวกอีดอก คำว่าอีดอก เป็นถ้อยคำหยาบคาย สามัญชนฟังแล้วเข้าใจได้ชัดเจนอยู่ในตัวเองว่าผู้ถูกด่า เป็นหญิงไม่ดี จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 500 บาท

 

 

 

2. อีเหี้ย

3. อีสัตว์

4. อีควาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2548 จำเลยด่าผู้เสียหายว่า อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย มึงคิดว่าเมียกูกินเงินไปหรือไง และชี้มือไปที่ผู้เสียหาย ถ้อยคำดังกล่าว นอกจากจะเป็นคำหยาบคายแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบผู้เสียหายเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สี่เท้า และกล่าวหาผู้เสียหายว่า ภริยาของจำเลย เอาเงินของกลุ่มแม่บ้านไปใช้เป็นการส่วนตัว ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ), มาตรา 30 (กักขังแทนค่าปรับ)

 

 

5. อีตอแหล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า “อีตอแหล มาดูผลงานของแก” เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว

 

 

 

เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า “ตอแหล” ว่า เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหาย จึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ) มาตรา 30 ( กักขังแทนค่าปรับ)

 

 

6. ไอ้ระยำ

7. ไอ้เบื๊อก

8. ไอ้ตัวแสบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2538 หลังจากประธานที่ประชุมกล่าวเปิดประชุมแล้ว จำเลยได้พูดในที่ประชุม ซึ่งมีโจทก์และบุคคลอื่นรวมแล้วประมาณ 30 คน เข้าร่วมประชุมว่า “ผมข้องใจว่าไอ้ผู้อำนวยการกองอุทธรณ์ มันมานั่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ อ.ก.พ.นี้ได้อย่างไร ผมไม่เคยเสนอชื่อมัน” เมื่อประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงให้ทราบแล้ว จำเลยได้พูดขึ้นอีกว่า “ไอ้ระยำ มันไปล็อบบี้มา เพื่อจะมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการเพื่อเอาเบี้ยประชุมไปกินเปล่าๆ” และจำเลยยังพูดอีกว่า “ไอ้เบื๊อก ไอ้ตัวแสบ มันแส่เข้ามานั่งหาอาวุธด้ามยาวอะไรในที่นี้” เพราะไม่พอใจโจทก์ แม้จำเลยจะชี้ หรือไม่ชี้หน้าโจทก์ ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อผู้อำนวยการกองอุทธรณ์และร้องทุกข์มีเพียงตำแหน่งเดียวคือโจทก์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตาม ป.อ.มาตรา 393 และฐานกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายต่อหน้าธารกำนัล ตาม ป.อ. มาตรา 397

 

ด่าแบบไหนฟ้องได้

 

9. เฮงซวย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

 

 

 

ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิด ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ), มาตรา 30( กักขังแทนค่าปรับ)

 

 

10. ผู้หญิงต่ำๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2537 จำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็น ผู้หญิงต่ำๆ ต่อหน้าผู้อื่น ซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 ว่า เป็นผู้หญิงไม่ดี มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้า หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ปรับ 1,ooo บาท

 

 

11. พระหน้าผี

12. พระหน้าเปรต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2527 จำเลยว่าโจทก์ว่า “พระหน้าผี พระหน้าเปรต ไปฟ้องกู กูไม่กลัว” โจทก์เป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปถือว่าควรเคารพ การที่จำเลยว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดังกล่าว จึงเป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393

 

 

 

13. มารศาสนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2525 คำว่า มารศาสนา ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง บุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้า คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญ และกีดกันบุญกุศลที่จะมาถึงตน ซึ่งเป็นบุคคลประเภทที่สาธารณชนย่อมรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย จำเลยพูดว่าผู้เสียหายด้วยถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย จึงต้องมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบอธิบายความหมายอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับ 1,000 บาท

 

 

14. ไอ้หน้าโง่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7572/2542 การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ร่วมว่า “มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหาบุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่ มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล” นั้น เห็นได้ว่าสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่า กูและมึงนั้น เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมาย และจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้น เป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของพ่อตาจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่ที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่าไอ้หน้าโง่ นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการหมิ่น เหยียดหยามโจทก์ร่วม แม้จะเป็นการกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วม ในขณะที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกัน ก็ต้องถือว่าจำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม พิพากษาปรับจำเลย 1,000 บาท

 

 

15. อีร้อยคว...(ตามด้วยคำลามก)

16. อีดอกทอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2495 ด่าเขาว่า “อีร้อยคว.. อีดอกทอง” เป็นคำด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทซึ่งหน้า ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 339(2)

 

 

ทั้งนี้  คำพิพากษาจำเป็นต้องใส่คำด่าจริงๆ ตรงๆ ลงไป เพราะอยู่ในสำนวน ซึ่งศาลต้องรู้ว่าใช้คำด่าอะไร อย่างไร จึงจะพิพากษาได้ถูกต้อง จะดัดแปลงให้สุภาพ หรือมาทำจุดไข่ปลาให้เติม หรือคิดไปเอง ไม่สามารถทำได้

 

 

นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งคำด่า คือ คำว่า “ไอ้แก่”

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 𝟔𝟒𝟐𝟒/𝟐𝟓𝟓𝟕 พ่อยกที่ดินให้ลูกโดยเสน่หา ต่อมาลูกยักยอกเงินพ่อไป 𝟕 ล้านบาท พ่อไปทวงคืน ลูกพูดว่า “ไอ้แก่ แก่แล้วเลอะเลือน” ศาลฎีกา เห็นว่า การที่บุตรเรียกบิดาว่า “ไอ้แก่” ก็เป็นคำด่าแล้ว ทั้งยังพูดอีกว่า “ไอ้แก่ แก่แล้วเลอะเลือน”  จึงเป็นการด่าบิดา โดยไม่ให้ความเคารพนับถือและยำเกรง หยาบคาย แสดงถึงการเหยียดหยามดูแคลนต่อบิดาของตนเอง เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทบิดาอย่างร้ายแรง พิพากษาให้ลูก จดทะเบียนโอนที่ดิน 2 แปลงคืนแก่พ่อ

 

 

ด่าแบบไหนไม่ถูกฟ้อง

 

 

  • การด่าแบบเหน็บแนม เช่น กูว่ามึงไม่โง่พอที่จะไปเป็นชู้เค้าหรอกว่ะ
  • การด่าแบบไม่ยืนยันข้อเท็จจริง เช่น มึงทำตัวแบบนี้มึงเป็นชู้เค้าป่าวว่ะ
  • การด่าแบบคาดการณ์ในอนาคต เช่น อีก 4-5 ปีเดี๋ยวมึงก็ไปเป็นผัวน้อยของอีนั่น

 

 

 

ทั้งนี้ การด่าผ่านโทรศัพท์ ก็มีความผิด เพราะถือเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่ด่าส่งถึงผู้รับในทันที ซึ่งการดูหมิ่นซึ่งหน้า ต้องรับรู้ได้อย่างฉับพลันทันใด เช่น อยู่ต่อหน้าต่อตา หรือมีการโทรศัพท์พูดคุยกัน (ยังอยู่ในสาย) หรือกรณีมีการ Chat คุยกัน โต้ตอบกัน อันนี้ถือว่า “ใช่”  แต่หากด่าผ่านทางอีเมล เพราะไม่ได้มีการโต้ตอบกันทันทีทันใด ยังไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า ส่วนการโพสต์เฟซบุ๊ก ทำให้คนที่อยู่ในเฟซบุ๊กหลายๆ คนรับรู้ถึงข้อความ จะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 ด้วย รู้แบบนี้ ต่อไปนี้ คิดจะด่าใคร ก็ให้นึกคำดีๆ ถ้าไม่อยากถูกฟ้อง หรือ ทางที่ดีที่สุด คือระงับอารมณ์อยู่ในความสงบจะดีกว่า

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ