ข่าว

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างสุขชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างรายได้ สร้างความสุข ให้ตำบลป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

“เมื่อก่อนต้องใช้น้ำจากลำห้วยพอคนสูบใช้มาก ๆ น้ำก็ไม่เพียงพอ หลังจากมีอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วก็มีน้ำพอใช้ แต่เมื่อแปลงปลูกเพิ่มมากขึ้นเพราะรายได้ดี น้ำก็เริ่มไม่เพียงพอ อยากจะให้ทางราชการมาช่วยขยายพื้นที่และขุดลอกเพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น”

 

นายเดช แม้นพรม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี กล่าวในระหว่างให้การต้อนรับพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง 

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างสุขชุมชน

พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และคณะอนุกรรมการฯ ในโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566

 

นายเดช  แม้นพรม เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเมื่อปี 2553 ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 107 คน ประมาณ 300 ครัวเรือน สมาชิกส่วนใหญ่ปลูกพืชผัก อาทิ พริก มะเขือยาว ถั่วฝักยาว มะระ บวบ โดยจะนำไปขายส่งที่ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายส่ง ทำให้ผลผลิตไม่ตกค้างในแต่ละวัน ขณะที่บางรายเริ่มให้ความสนใจปลูกพืชยืนต้น เช่น ทุเรียน ควบคู่ไปด้วยเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ระยะยาวให้กับครอบครัวต่อไป

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างสุขชุมชน

ด้านนางนิตยา เชื้อดี เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ เปิดเผยว่า เดิมทำงานที่โรงงานผลิตรองเท้าในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อมีโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้กลับมาทำเกษตรปลูกพืชผักแบบผสมผสานหมุนเวียนตลอดทั้งปี เช่น มะเขือ มะระ บวบ พริก ถั่วฝักยาว บนพื้นที่ 22 ไร่ ผลผลิตมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อหักต้นทุนแล้วก็ยังมีเงินเหลือเก็บประมาณ 100,000 บาทต่อปี 
 

“ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ปลูกไม้ล้อมเพิ่มเติมกว่า 40 ชนิด อาทิ กระพี้จั่น มะฮอกกานี สนฉัตร ซิลเวอร์โอ๊ค โดยชนิดพันธุ์ที่ปลูกแล้วแต่ลูกค้าจะต้องการ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้นไม้ โดยอายุปลูก 3 ปีก็ล้อมได้ แต่ถ้าปลูกไว้อีกหลายปีราคาก็จะสูงขึ้น ต้นอายุ 3 ปี ราคาขายต้นละ 1,500 ถึง 2,000 บาท โดยผู้ซื้อจะเดินทางมาล้อมเอง” นางนิตยา เชื้อดี  กล่าว

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างสุขชุมชน

ขณะที่นางสาวภัทรพร วิถีกลาง บุตรสาวของนางนิตยา เชื้อดี ปัจจุบันเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3 เปิดเผยว่า ได้ช่วยครอบครัวทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ปลูกพืชผักหลากหลายชนิดตามที่ตลาดต้องการ ผลผลิตดีเพราะมีน้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ ได้ใช้อย่างเพียงพอ 

 

“ดีใจมากที่มีอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ ทำให้ปลูกผักได้หลากหลายชนิด และปลูกในปริมาณที่มากขึ้น เพราะมีน้ำเพียงพอในการรดต้นไม้ ทำให้มีรายได้ดีจนสามารถส่งให้ตนเองเรียนถึงมหาวิทยาลัย จากเดิมครอบครัวค่อนข้างลำบาก มีหนี้สิน แต่ปัจจุบันมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยวางแผนไว้ว่าหากเรียนจบแล้ว จะช่วยพ่อแม่พัฒนาระบบอัตโนมัติในการให้น้ำพืชผัก และจะใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลพืช เพราะพื้นที่ปลูกพืชกว้างมากแม่ต้องเดินเพื่อเหวี่ยงน้ำแต่ละวันต้องเดินกว่า 3 กิโลเมตร ใช้เวลานานซึ่งแม่จะเหนื่อยมาก นอกจากนี้ก็จะพัฒนาการตลาดออนไลน์ ในส่วนของการขายไม้ล้อมด้วย” นางสาวภัทรพร วิถีกลาง กล่าว   

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างสุขชุมชน

โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ เป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎร กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2531 เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ความจุที่ระดับเก็บกักประมาณ 1,100,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบท่อเหล็กและท่อซีเมนต์ใยหิน ความยาวรวมประมาณ 8.15 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 3,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ประมาณ 308 ครัวเรือน 1,235 คน ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ทุเรียน มะม่วง พืชผักสวนครัวชนิดต่าง ๆ   และยังเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดในชุมชนอีกด้วย 

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างสุขชุมชน

นายมานพ พานทอง ประธานกลุ่มซ่อมบำรุงโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ เผยว่า ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางรายจากเดิมมีที่ทำกินเพียง 1-2 ไร่ ก็ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นเพราะมีน้ำเพียงพอ ผลผลิตดีมีตลาดรองรับรายได้มั่นคงหลายครอบครัวมีฐานะที่ดีขึ้น

อ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างสุขชุมชน

logoline