ข่าว

อัปเดตความรู้ 'โควิด19' รับมือการระบาดใหม่ หมอย้ำ ไม่ติดดีที่สุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'หมอธีระ' เปิดข้อมูลอัปเดตความรู้เกี่ยวกับ 'โควิด19' เพื่อรับมือการระบาดระลอกล่าสุด ย้ำชัด ไม่ติดเชื้อดีที่สุด

'หมอธีระ' รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เปิดเผยข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับ 'โควิด19' เพื่อรับมือกับการระบาดในครั้งนี้ ที่นับวันจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยังคงต้องป้องกันถึงแม้ยังไม่พบอัตราความรุนแรงมากก็ตาม

 

1. หากโรงพยาบาลไม่ตรวจคัดกรอง 'โควิด19' ในผู้ป่วยที่ต้องมานอนรักษาตัว จะทำให้มีอัตราการ ติดเชื้อโควิด ภายในโรงพยาบาลมากขึ้น ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine เมื่อ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลที่ศึกษาในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ และสก็อตแลนด์)

 

การศึกษานี้ตอกย้ำให้โรงพยาบาลควรให้ความสำคัญต่อการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยทุกรายที่เข้ารับการรักษาตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยรอบข้าง และบุคลากรในโรงพยาบาล เพราะหากมีการติดเชื้อระหว่างนอนรักษาตัว จะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตมากขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว หรือสถานะสุขภาพไม่ดีอยู่เดิม การติดเชื้อจะทำให้โรคต่างๆ รุนแรงขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นได้

 

 

2. วัคซีน ที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่ระบาด จะเริ่มใช้ในช่วงฤดูใบไหม้ร่วงปีนี้ ข้อมูลจาก CTV News วันที่ 5 มิ.ย. 2566 รายงานว่า บริษัท Biontech ประเทศเยอรมัน ได้ให้ข่าวว่า 'วัคซีนโควิด' ที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ XBB จะได้รับการผลิต และยื่นขอการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการขออนุมัติภายในช่วงปลายฤดูร้อน และเริ่มใช้ได้สำหรับประเทศในกลุ่มแถบเหนือของโลกในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง

 

3. การติดเชื้อหลายครั้ง เพศหญิง และสูงอายุ เสี่ยงต่อ Long COVID มากขึ้น งานวิจัยโดยทีมจากประเทศบราซิล ศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 7,051 คน ตั้งแต่ปี 2020-2022 เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Infection Control & Hospital Epidemiology เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566

 

  • อัตราความชุกของปัญหา Long COVID สูงราว 27%
  • การติดเชื้อซ้ำ (Reinfections) จะทำให้เสี่ยงต่อ Long COVID มากขึ้น 27%
  • เพศหญิงทำให้เสี่ยงมากขึ้นกว่าเพศชาย 21%
  • ภาวะสูงอายุจะทำให้เสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อย 
  • หากฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น (ตั้งแต่ 4 เข็มขึ้นไป) จะลดความเสี่ยงได้กว่า 80%

 

 

สำหรับสถานการณ์ในไทย พบว่ามีการติดเชื้อกันมากในแต่ละวัน สถิติป่วย และเสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

 

  • เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
  • ระวังการคลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกันตัว
  • ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน
  • หากไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษา แยกตัวจากคนอื่น 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ
  • การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ