ข่าว

WHO จับตา 'โอไมครอนลูกผสม' 4 สายพันธุ์ เฝ้าระวัง 18 ตำแหน่ง ทำดื้อยา แพกซ์โลวิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

WHO จับตา 'โอไมครอนลูกผสม' 4 สายพันธุ์ พร้อมเฝ้าระวัง 18 ตำแหน่งสำคัญบนจีโนมของ โควิด ที่ อย. สหรัฐฯ ระบุ ก่อให้เกิดการดื้อต่อยา 'แพกซ์โลวิด' ในหลอดทดลอง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดเผยข้อมูล 'โอไมครอนลูกผสม' 4 สายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังให้ความสนใจหรือเฝ้าจับตาคือ XBB.1.5, XBB.1.9.1, XBB.1.16 และล่าสุดคือ XBB.2.3 ซึ่งกำลังจะทำให้การป้องกันและรักษา โรคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไป

 

 

โอไมครอน ในกลุ่ม XBB ทำให้วัคซีนทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นรุ่นแรกหรือรุ่นที่สองด้อยประสิทธิภาพลงเพราะบริษัทผลิตวัคซีนไม่สามารถพัฒนาวัคซีนตามการกลายพันธุ์ของโอไมครอนได้ทัน องค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละสัปดาห์ยังมีผู้คนหลายล้านคนกำลังติดเชื้อโควิด (ซ้ำ) โดยมีผู้ป่วยหลายแสนคนที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และอีกหลายพันคนที่เสียชีวิตจาก โควิด ทำให้เราได้เข้าสู่โหมดการรักษาโควิด-19 กันมากขึ้น

 

โดยจากเดิมเราจะอยู่ในโหมดการป้องกัน เช่น กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่าง หน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีน (ซึ่งด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลงทุกขณะ) เปลี่ยนมาเป็นเข้าสู่โหมดการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป และยาต้านไวรัสเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งนี้ ดร.เดโบราห์ เบิร์กซ์ (Deborah Birx) อดีตแพทย์ใหญ่ประจำทำเนียบขาว คาดว่าในที่สุดแล้วโควิด-19 จะกลายพันธุ์ดื้อต่อยา 'แพกซ์โลวิด' (Paxlovid) อันอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอย่างรวดเร็ว

 

 

แอนติบอดีสำเร็จรูป ที่แพทย์ใช้รักษาโรคโควิดนั้นจะให้กับผู้ติดเชื้อในกลุ่มเปราะบาง หรือในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่เมื่อมีการระบาดของโอไมครอนในกลุ่มสายพันธุ์ย่อย XBB ที่มีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้ปัจจุบันมีแอนติบอดีสำเร็จรูปเหลือเพียงประเภทเดียวคือ โซโทรวิแมบ (sotrovimab) ที่พอจะใช้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของโอไมครอนกลุ่ม XBB ในร่างกายผู้ติดเชื้อได้

 

ส่วน ยาต้านไวรัสนอร์มาเทรลเวียร์ (nirmatrelvir) เป็นยาต้านไวรัสชนิดกิน ออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยับยั้งเอนไซม์ 3CL โพรตีเอสของไวรัสโควิด-19 ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นแพกซ์โลวิด (Paxlovid) และ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ให้กับผู้ติดเชื้อทางเส้นเลือดดำจะถูกนำไปใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาที่ติดตามมาคืออาจสุ่มเสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยาเนื่องจากเรามียาต้านไวรัสไม่กี่ชนิดที่ทางองค์การอาหารและยาในหลายประเทศอนุมัติให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัส โควิด-19 ในรูปแบบของยาเดี่ยว (monotherapy)

 

 

ขณะที่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในอดีตที่ไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสเอชไอวีหลายตัวประสบปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นการใช้ยาเพียงตัวเดียวในการรักษาซึ่งก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย จนกระทั่งมีการปรับการรักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2-3 ชนิดพร้อมกัน (antiviral combination therapy) ทำให้ปัญหาเชื้อเอชไอวีดื้อยาลดลงตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการติดตามเชื้อ โควิด ดื้อยาที่อาจเกิดการระบาดขึ้นในประเทศไทย ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี จึงได้เตรียมพร้อมในการตรวจสอบเชื้อโควิดดื้อยาแพกซ์โลวิดเป็นอันดับแรกด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม

 

 

แพกซ์โลวิด เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ใช้ต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่มุ่งเป้าไปที่โปรตีเอส 3CL ของไวรัสโคโรนา 2019 แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเริ่มกังวลว่าจากการใช้ยาแพกซ์โลวิดที่เพิ่มมากขึ้น อาจประสบปัญหาเชื้อดื้อยาแพกซ์โลวิดในอนาคต  ดังนั้นองค์การอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐจึงได้ออกเอกสารข้อมูลสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่จะนำยาแพกซ์โลวิดไปใช้ในกรณีฉุกเฉิน (FACT SHEET FOR HEALTHCARE PROVIDERS: EMERGENCY USE AUTHORIZATION FOR PAXLOVIDTM) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซด์ของ อย. สหรัฐ คือ https://www.fda.gov/media/155050/download ซึ่งมีการปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566

 

 

โดยในเอกสารได้ระบุถึงตำแหน่งการกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) ในส่วนที่สร้างโปรติเอส 3CL จำนวน 18 ตำแหน่งสำคัญ ที่แต่ละตำแหน่งที่กลายพันธุ์จะส่งผลให้การทดสอบในหลอดทดลองเกิดการดื้อต่อยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดเพิ่มเป็นหลายเท่า (X) เมื่อเทียบกับโควิดที่ไม่ได้กลายพันธุ์ (wild type) กล่าวคือ G15S (4.4X), Y54A (24.0X), T135I (3.2X), F140A (39.0X), F140L (5.4X), S144A (92.0X), S144E (470X), S144T (160X), H164N (6.4X), E166A (33.0X), E166G (16.0X), H172Y (230X), A173V (26.0X), V186G (13.0X), Q189K (65.0X), Q192L (28.0X), Q192P (33.0X) และ D248E (3.7X) 

 

 

โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากพอที่จะระบุว่าการกลายพันธุ์ทั้ง 18 ตำแหน่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดเชื้อโควิดดื้อยาในร่างกายผู้ติดเชื้อเหมือนเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลอดทดลองเลี้ยงไวรัสกับเซลล์ที่มียาแพกซ์โลวิดผสมอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ดีทางศูนย์จีโนมฯได้ตรวจสอบรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ที่จัดเก็บบนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 4,765,147 ราย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ยาแพกซ์โลวิดมากที่สุดในโลก เปรียบเทียบกับตัวอย่างจากประเทศไทยจำนวน  39,622 รายที่เพิ่งเริ่มใช้ยา พบว่า

 

- ตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาพบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง H164N, G15S, L50F, และ T135I บนสายจีโนมของไวรัสในส่วนที่สร้างโปรติเอส 3CL จำนวน 4,500, 3,061, 2,272, และ 400 รายตามลำดับ

 

- ตัวอย่างจากไทยพบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง H164N, G15S, L50F, และ T135I  บนสายจีโนมของไวรัสในส่วนที่สร้างโปรติเอส 3CL จำนวน 0, 3, 16, และ 0 รายตามลำดับ

 

- การกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งคือ "L50F-E166A-L167F" ที่พบในห้องทดลอง ยังตรวจไม่พบจากตัวอย่างในผู้ติดเชื้อ 4.7 ล้านรายในสหรัฐอเมริกาและ 3.9 หมื่นรายในไทย 
ศูนย์จีโนมฯกำลังเฝ้าติดตามตำแหน่งกลายพันธุ์เหล่านี้ในทุกตัวอย่างที่หน่วยงานในประเทศไทยได้ช่วยกันสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมและแชร์ไว้บนฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก 'จีเสส'

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ