ข่าว

ชัดเจน ครอบครอง 'ไซยาไนด์' ผิดกฎหมาย เหตุใด เล็ดรอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ อย. ระบุชัด 'ไซยาไนด์' ใครมีไว้ในครอบครอง ผิดกฎหมาย แล้วเหตุใด จึงเล็ดรอดให้ 'แอม' นำไป วางยาฆ่า จนเข้าข่าย ฆาตกรต่อเนื่อง

ประเด็นการจับกุม “แอม” ผู้ต้องหา วางยาเหยื่อกว่า 18 ราย ทำให้ชื่อของ “ไซยาไนด์” สารพิษอันตราย ที่แอมนำมาใช้ในการก่อเหตุ ถูกพูดถึง ในแง่มุมของการนำเข้า และมีไว้ในครอบครอง เนื่องจาก จัดอยู่ในสารควบคุมอันตราย แต่กลับพบถูกนำมาใช้อย่างง่ายดาย และวางขายเกลื่อนออนไลน์

 

 

โดย “ไซยาไนด์” จัดอยู่ในการควบคุม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เวลานำเข้าหรือ ผลิต ครอบครอง ต้องขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก พลาสติก และเหมืองทอง รวมถึง คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ดูแลควบคุมการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ 

 

ไซยาไนด์

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการ อย. ให้ข้อมูลว่า สารไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตราย ใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งการควบคุมมีหลายฝ่ายร่วมกันดูแล ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ดูแลผลิตภัณฑ์ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง และได้จัดสารไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามนำมาผสมใส่อาหาร ยา และเครื่องสำอาง หากพบผู้ใดฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ในอาหาร ยา และ เครื่องสำอาง ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. นพ.ไพศาล ยืนยันว่า ยังไม่พบสารไซยาไนด์ ซึ่งทาง อย.มีการสุ่มตรวจสอบเป็นประจำ

 

ไซยาไนด์บนรถแอม

 

คุมเข้ม นำเข้า-ส่งออก “ไซยาไนด์”

 

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 ได้กำหนดแนวทางควบคุมการนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด ดังนี้

  1. ระงับการส่งออก และชะลอการนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ไว้ก่อน เพื่อปรับปรุงวิธีการพิจารณาการอนุญาตการนำเข้าและส่งออก โดยจะอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกตามปริมาณการใช้จริง ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป
  2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะดำเนินการควบคุมการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ ตามปริมาณการใช้จริง อนุญาตเป็นรายๆ ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน  โดยการกำหนดให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ (End Use) ต้องยืนยันตัวตนโดยการลงทะเบียน เพื่อควบคุมปริมาณและการติดตามการใช้สารดังกล่าว

 

 

ซึ่งข้อมูลจาก จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า ไทยไม่สามารถผลิตโซเดียมไซยาไนด์ได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และสารตัวนี้ หากนำไปทำปฏิกิริยากับสารเบนซิลคลอไรด์ จะกลายเป็นเบนซิลไซยาไนด์ เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด

 

ไซยาไนด์

 

เปิดเงื่อนไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

มาตรา 20/121

  • ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรเฉพาะ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนด โดยความเห็นของคณะกรรมการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา 20/121 ผู้นำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ในแต่ละครั้ง ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งแล้ว ให้ออกใบนำผ่าน เพื่อเป็นหลักฐานการรับแจ้ง
  • ผู้นำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตแล้ว ให้ออกใบนำผ่าน เพื่อเป็นหลักฐานกานอนุญาต

 

อ่าน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แบบละเอียด คลิกที่นี่

 

ช่องโหว่ “ไซยาไนด์” เหตุใดยังเล็ดรอด

 

ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย คณบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึก ไว้ว่า ช่องโหว่ที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมการซื้อขายไซยาไนด์ คือ ประเทศไทศไทยยังไม่ได้มีการจำกัดการสั่งซื้อไซยาไนด์ เพราะยังสามารถสั่งซื้อโดยคนทั่วไปได้อยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริง การสั่งซื้อสารเคมีอันตราย จะต้องเป็นการสั่งซื้อในรูปแบบบริษัทที่จดทะเบียนชัดเจน และสถาบันการศึกษาที่นำไซยาไนด์ มาใช้ในงานวิจัยเท่านั้น

 

 

เมื่อไม่มีการควบคุมการซื้อ-ขาย จึงทำให้คนทั่วไปสามารถสั่งซื้อไซยาไนด์ และไม่มีการตรวจสอบว่า จะนำไปใช้งานในลักษณะใด ซึ่งค่อนข้างมีความอันตราย

 

 

รู้จัก ไซยาไนด์ 

 

สารกลุ่มไซยาไนด์ มี 2 ตัว คือ

  • ตัวหนึ่งเป็นของแข็ง เกลือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปรแตสเซียม ไซยาไนด์
  • ส่วนอีกตัว มีสถานะเป็นก๊าซ คือ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา เมื่อเอากรด เช่น กรดเกลือ หรือกรดกำมะถัน ผสมกับเกลือไซยาไนด์

 

 

ประการสำคัญ คือ พิษต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเกลือไซยาไนด์ หรือก๊าซ เป็นอันตรายถึงตายได้เหมือนกัน เมื่อไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย จะไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์เกิดภาวะขาดออกซิเจน ที่สำคัญคือ เซลล์สมอง จนไปถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด อาการ และความรุนแรงของพิษขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาที่ได้รับสาร แต่เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ ภายในประเทศ ประมาณ 141 ราย มีปริมาณการใช้ภายในประเทศ ประมาณ 300 ตันเศษ (ไม่รวมการใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่) ส่วนสารเบนซิลไซยาไนด์ ภายหลังปี พ.ศ. 2560 ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศ

 

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อกำหนดต่างๆ ทั้งตัว พ.ร.บ.ควบคุม รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูเหมือนว่า ไม่น่าจะมีช่องว่างอะไร แต่การเล็ดรอดของ ไซยาไนด์ ที่ แอม นำมาใช้ก่อเหตุ จนเข้าข่าย ฆาตกรรมต่อเนื่อง ก็ยังเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจใครหลายคน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ