'วันแรงงาน 2566' ตรงกับวันไหน เปิดที่มา วันแรงงานแห่งชาติ ทำไม แรงงาน ได้หยุด
'วันแรงงาน 2566' ตรงกับวันไหน เปิดที่มา 'วันแรงงานแห่งชาติ' ทั้งไทย และ สากล อัปเดต กฎหมายแรงงาน 2566 ล่าสุด ทั้ง วันหยุด-ค่าตอบแทน
“วันแรงงานแห่งชาติ” เป็นที่ทราบกันดีว่า ตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี และถือเป็นวันหยุดประจำปี ที่มีการเฉลิมฉลองไปทั่วโลก หรือที่เรียกตามสากลว่า เป็น วันเมย์เดย์ (May Day) เมย์ แปลว่า เดือน พ.ค. ซึ่งเมื่อหยุดวันที่ 1 พ.ค. ก็คือวันแรกของเดือนนั่นเอง จึงกลายเป็นวันเมย์เดย์ ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานจะรู้ว่า ถึงเวลาที่พวกเขาจะได้หยุดใช้แรงงานกันแล้ว
คมชัดลึก จะพาไปย้อนประวัติความเป็นมา วันแรงงานแห่งชาติ ทั้งสากล และ วันแรงงาน ในประเทศไทย เพื่อเป็นการยกย่อง และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “แรงงาน” เพื่อให้เกิดการพัฒนา ทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรม ที่ผู้ใช้แรงงาน สมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง
ประวัติวันแรงงานแห่งชาติ หรือ วันเมย์เดย์ (May Day)
ในอดีตประเทศในแถบยุโรป จะถือเอา วันเมย์เดย์ หรือ 1 พ.ค. เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม ในวันนี้ จะพิธีเฉลิมฉลอง ขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข การเฉลิมฉลองนี้ จะมีการให้ดอกไม้ ร้องเพลง และเต้นรำไปรอบๆ เสาเมย์โพล (Maypole) ซึ่งเป็นการเต้นรำรอบเสาที่ประดับไปด้วยช่อดอกไม้ และริบบิ้น
เมื่อวันเวลาผ่านไป ระบบอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่หลายประเทศ จึงเปลี่ยนเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชน เห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากนั้น ในปี 2433 หลายประเทศทางตะวันตก ได้มีการเรียกร้องให้ถือเอาวันที่ 1 พ.ค. เป็นวันแรงงานสากล ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1 พ.ค. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน
วันแรงงานในประเทศไทย
อุตสาหกรรมไทยในสมัยก่อน ได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้โดยง่าย ทำให้ในปี 2475 ซึ่งตรงกับสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทย ได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ในวันที่ 20 เม.ย. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่า ควรกำหนดให้วันที่ 1 พ.ค. เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรี ทำให้นับแต่นั้น วันที่ 1 พ.ค. เป็น วันกรรมกรแห่งชาติ จนต่อมา ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ
ในปี 2500 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงาน ในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีอายุได้เพียง 18 เดือน ก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้ง ยังกำหนดให้วันกรรมกร เป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น มีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปี เพื่อเป็นการเตือนนายจ้าง ให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พ.ค.โดยในบางปี ก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลอง เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จนกระทั่งมาถึงปี 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงาน ที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
“วันแรงงาน 2566” ตรงกับวันไหน
วันแรงงาน 2566 ตรงกับวันจันทร์ที่ 1 พ.ค. 2566 ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงาน และให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงาน จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนเท่านั้น รวมทั้ง ถือเป็นวันหยุดสำหรับ สถาบันการเงิน ดังนั้น ธนาคาร รวมทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะปิดทำการในวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี แต่หากเป็นธนาคารที่มีสาขาในห้างสรรพสินค้า อาจเปิดทำการในบางแห่ง
กฎหมายแรงงาน 2566
วันหยุด-ค่าตอบแทน
วันหยุดประจำสัปดาห์
ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง อาจตกลงกันสะสม และเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ ไปหยุดเมื่อไรก็ได้ ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
วันหยุดตามประเพณี
ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี รวม “วันแรงงานแห่งชาติ” โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
วันหยุดพักผ่อนประจำปี
ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้
ค่าตอบแทนในการทำงาน
ค่าจ้าง
จ่าย เป็นเงินเท่านั้น จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้ากำหนดเวลาทำงานปกติเกิน 9 ชม./วัน ให้จ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนสำหรับการทำงานที่เกิน 9 ชม.ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง หรือต่อหน่วยในวันทำงาน และในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด
ค่าจ้างในวันหยุด
จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ยกเว้นลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์
ค่าจ้างในวันลา
- จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี
- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อทำหมัน
- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกิน 60 วัน/ปี
- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 45 วัน/ครรภ์
อ่านรายละเอียด : กฎหมายแรงงาน 2566 คลิกที่นี่