ข่าว

มหากาพย์ 'ที่ดินเขากระโดง' วันชี้ชะตา ปมข้อพิพาท กรมที่ดิน-รฟท. เอื้อใคร?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนเส้นทาง 'ที่ดินเขากระโดง' จนกลายเป็นมหากาพย์ ปมข้อพิพาท กรมที่ดิน-รฟท.-ตระกูลดัง ยาวนานกว่า 100 ปี กับวันที่ศาล นัดชี้ชะตา

ปมความขัดแย้งในเรื่อง “ที่ดินเขากระโดง” ที่เกี่ยวพันมาถึงนักการเมืองในตระกูลดัง ซึ่งแทนที่จะมีการดำเนินการเพิกถอน หรือดำเนินการยึดที่ดินมาเป็นของรัฐ แต่เรื่องราวกลับพลิก เมื่อหน่วยงานรัฐซัดกันเอง เสมือนเกรงกลัวกลุ่มผู้บุกรุก

 

 

ข้อพิพาทยิ่งตอกย้ำ เมื่อ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แฉ ขบวนการทุจริตคอร์รัปชันบนที่ดินเขากระโดงกว่า 5,000 ไร่ ที่ปัจจุบันกลับกลายเป็นพื้นที่บ้านพักของตระกูลดัง และ รมว.คมนาคม คมชัดลึก จะไล่เรียงไทม์ไลน์ปมข้อพิพาท ที่กลายเป็นมหากาพย์ “ที่ดินเขากระโดง” เมื่อรัฐเพิกเฉย ไม่เพิกถอนที่ดิน เพราะอะไร

ที่ดินเขากระโดง  

 

จุดเริ่มต้นมหากาพย์ “ที่ดินเขากระโดง”

 

1. ปี 2462-2464 มีการสร้างทางรถไฟ จากนครราชสีมาผ่านบุรีรัมย์ ไปสุรินทร์ ,ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี แต่เนื่องจากต้องหาแหล่งหิน ระเบิดหินและย่อยหิน เพื่อนำมาสร้างทาง เจ้าหน้าที่ ‘กรมรถไฟแผ่นดิน’ สมัยนั้น จึงสำรวจที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เพื่อทำการจัดซื้อที่ดิน ตาม พ.ร.ฎ.ฉบับปี พ.ศ.2464

 

2. หลังจากนั้น ที่ดินเขากระโดงผืนนี้ จึงเป็นที่ของ รฟท. มีการปักหลักเขต รวมแปลงที่ดินไว้ และมีการจัดให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแล และสงวนสิทธิในการใช้ที่ดินโดยสม่ำเสมอ

 

3. ต่อมามีผู้บุกรุกเข้าไปอาศัยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิของ รฟท. แม้ว่าตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา รฟท.จะพยายามขอให้กรมที่ดิน ออกหนังสือสำคัญสำหรับ ‘ที่หลวง’ ให้กับ รฟท. แต่ประชาชนที่บุกรุกคัดค้าน ทำให้มีปัญหาในการออกหนังสือ

 

4. ปี 2513 พบข้อพิพาทระหว่าง ชัย ชิดชอบ และราษฎร บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจา นายชัยยอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิของ รฟท. และทำหนังสือขออาศัย ซึ่ง รฟท. ยินยอม

 

5. ในปี 2515 ผู้บุกรุกพื้นที่บางราย นำที่ดินเขากระโดงไปออกโฉนด และขายให้ละออง ชิดชอบ ก่อนมีการขายต่อให้บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และบริษัทฯ นำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้บุกรุกรายอื่นๆ ได้ขอออกโฉนดที่ดิน บนที่ดินดังกล่าวอีกหลายแปลง และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลายทอดในเวลาต่อมา

ที่ดินเขากระโดง

6. รฟท. มีการติดตามตรวจสอบ และดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

7. ปี 2540 จ.บุรีรัมย์ ได้ส่งเรื่องข้อพิพาทปัญหาที่ดิน ระหว่าง รฟท. กับประชาชน ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ซึ่งได้วินิจฉัยว่า ที่ดินเขากระโดง เป็นกรรมสิทธิของการรถไฟฯ

 

8. ปี 2552 รฟท. ส่งเรื่องไปยัง ‘กรมที่ดิน’ เพื่อขอให้เพิกถอนที่ดินของผู้บุกรุก ที่ได้มีการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยเฉพาะที่ดิน 2 แปลงของ ‘นักการเมือง’ ตระกูลหนึ่ง แต่ปรากฏว่า กรมที่ดินพิจารณาแล้ว มีความเห็น ‘แย้ง’ กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ดำเนินการ ‘เพิกถอน’ โฉนดดังกล่าว

 

9. ทำให้มีประชาชนหลายราย ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง นำเอกสารสิทธิที่ดินที่มีอยู่ เช่น น.ส.3 ไปออกเป็นเอกสารสิทธิ ‘โฉนดที่ดิน’ กับกรมที่ดิน แต่กรมที่ดินไม่ออกโฉนดให้ เนื่องจากมีการคัดค้านจาก รฟท. กระทั่งประชาชน 35 ราย ยื่นฟ้อง รฟท. และ กรมที่ดิน ต่อศาลแพ่ง และมีการต่อสู้กันถึงศาลฎีกา

 

10. ปี 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษา ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ดังกล่าว ของผู้ฟ้อง 35 ราย เนื่องจากที่ดินบริเวณเขากระโดง เป็นกรรมสิทธิของการรถไฟฯ

 

ศึกในสภาปม”ที่ดินเขากระโดง”

 

11. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อ้างถึงที่ดินเขากระโดง ที่มีการออกสารสิทธิบนที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯต้องฟ้องเพิกถอนโฉนด เช่น สนามช้างอารีน่า รวมถึงบ้านพักของนายศักดิ์สยาม ญาติของนายศักดิ์สยาม และ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ด้วย

 

12. ศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ที่ดินเขากระโดง ที่เป็นที่ตั้งของ ‘สนามช้างอารีน่า’ มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน แปลงที่ 3466 ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็น น.ส.3 แต่เมื่อมีการซื้อขายแล้ว ก็นำไปยื่นขอออกเป็นโฉนด และวิศวกรของการรถไฟฯ ได้มารับรองแนวเขตเอง ซึ่งแสดงว่าที่ดินแปลงนี้มีประชาชนอาศัยอยู่นานแล้ว

 

13. ปี 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง และขอให้แจ้งผลการพิจารณาให้ รฟท.ทราบภายใน 90 วัน แต่หากพ้นกำหนดระยะเวลา รฟท.จะใช้สิทธิทางศาลต่อไป

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

 

ชูวิทย์ เปิดศึกแฉคอรัปชั่นเขากระโดง

 

14. เมื่อเรื่องราวยืดเยื้อ ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการเพิกถอนที่ดินเขากระโดง จากผู้บุกรุกและคืนทรัพย์สินให้แผ่นดิน กระทั่งเรื่องนี้เป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองจอมแฉ ออกมาเปิดโปง

 

15. ชูวิทย์ เปิดโปงว่า ที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ พื้นที่ของหลวง แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นพื้นที่บ้านพักของตระกูลดัง รวมถึงมีบ้านพักของ รมว.คมนาคมอยู่ด้วย อีกทั้ง ยังมีการสร้างสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถ รวมไปถึงบริษัท แต่เรื่องก็ยังถูกดอง ทั้งที่มีหลักฐานครบถ้วน แถมมีการไล่ชาวบ้าน 35 คน ออกจากพื้นที่ หลังแพ้คดี รฟท.

 

16. คดีดังกล่าว ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อ 23 ก.ย.2564 ศาลปกครองสั่งรับฟ้องเมื่อเดือน มี.ค.2565 และเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2566 ศาลปกครองกลาง ได้กำหนดให้วันที่ 7 มี.ค.2566 เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ศาลปกครองกลาง

 

17. จับตา 30 มี.ค.2566 ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษา คดี “รฟท.” ฟ้อง “กรมที่ดิน” ปมไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ ที่ออกทับที่ดิน รฟท. 5,083 ไร่ พื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 707 ล้านบาท

 

บทสรุป มหากาพย์ “ที่ดินเขากระโดง” จะลงเอยอย่างไร เมื่อปมความขัดแย้งยืดเยื้อ เกี่ยวพันมาถึงนักการเมืองในตระกูลดัง แทนที่จะมีการดำเนินการเพิกถอน หรือดำเนินการยึดที่ดินมาเป็นของรัฐ จนถูกมองว่า เรื่องนี้ เอื้อผลประโยชน์ให้ใครหรือไม่

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ