ข่าว

รู้จัก 'ปรัสเซียนบลู' ยาต้านพิษ ที่ว่ากันว่าใช้สยบ 'ซีเซียม-137'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก ยาต้านพิษ 'ปรัสเซียนบลู' สารสีน้ำเงินที่ใช้ในงานเขียนภาพ ก่อนจะมาเป็นยา ที่ว่ากันว่าใช้สยบ 'ซีเซียม-137' ได้

การสูญหายของ วัสดุกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' ถึงแม้จะมีการออกมาแถลงว่า พบสาร ซีเซียม137 ปนเปื้อนอยู่ที่โรงหลอมโลหะแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สรุปว่าเป็น ซีเซียม137 ที่สูญหายไปหรือไม่ ซึ่งจากการแถลงนี้ สร้างความวิตกกังวลกับชาวบ้านบริเวณโดยรอบ และก็ได้มีข้อมูลว่า ยาปรัสเซียนบลู สามารถต้านพิษและรักษาภาวะพิษจาก 'ซีเซียม-137' ได้

 

 

ซึ่งล่าสุด ได้มีแพทย์ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซีเซียม-137 ไม่ได้กระจายรุนแรงอย่างที่หลายๆ คนคิดและไม่ควรซื้อ 'ปรัสเซียนบลู' (Prussian blue) มาทานเอง ซึ่งทางแพทย์ไม่แนะนำให้ซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตเพราะอาจส่งผลอันตรายต่อร่างกาย

 

'ปรัสเซียนบลู' (Prussian blue) เป็นสารให้สีน้ำเงินที่ใช้กันแพร่หลายในงานเขียนภาพมากว่าสามร้อยปี เชื่อกันว่า ปรัสเซียนบลู ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1706 โดยนักผสมสีจากกรุงเบอร์ลินชื่อ Johann Jacob Diesbach ปรัสเซียนบลูมีลักษณะเป็นผงคริสตัลละเอียดสีน้ำเงินเข้ม ไม่ละลายน้ำ ภายหลังพบว่า เป็นสารประกอบของเหล็ก และไซยาไนด์

 

 

เนื่องจากปรัสเซียนบลูเป็นสีที่สังเคราะห์ได้ง่าย มีราคาถูก ไม่เป็นพิษ และให้สีน้ำเงินเข้ม จึงถูกใช้ประโยชน์หลากหลาย การผลิตโดยส่วนใหญ่ประมาณ 12,000 ตันต่อปี ใช้ในการผสมหมึกสีดำและสีน้ำเงินหลากชนิด รวมถึงสีที่ใช้ ในการย้อมครามแก่ผ้าขาว และสี Engineer’s blue ที่ใช้ในการผลิตพิมพ์เขียว นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ปรัสเซียนบลู เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะทางการแพทย์คือ ใช้เป็นยาต้านพิษไอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม และใช้ย้อมสีเนื้อเยื่อเพื่อดูการสะสมของธาตุเหล็ก

 

 

การใช้ ปรัสเซียนบลู ต้านพิษโอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม

 

ตั้งแต่คริสตทศวรรษที่ 1960 ปรัสเซียนบลูถูกใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับ 'ซีเซียม-137' แทลเลียม-201 และไอโซโทปเสถียรของแทลเลียม ในปริมาณที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เมื่อเข้าสู่ภายในร่างกาย สารเหล่านี้จะถูกขับออกโดยตับผ่านออกมายังสำไส้เล็ก และสามารถถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านลำไส้เล็กได้ ทำให้ร่างกายได้รับกัมมันตภาพรังสีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการขับสารเหล่านี้ออกโดยเร็วจึงเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยลดอันตรายจากสารกัมมันตรังสีนั้นได้ ปรัสเซียนบลู เป็นสารเคมีที่มีสมบัติช่วยขับไอโซโทปอันตรายเหล่านี้ ออกจากร่ายกายได้

 

 

ปรัสเซียนบลู

 

โมเลกุลของปรัสเซียนบลูสามารถดูดซับ 'ซีเซียม-137' และแทลเลียมในลำไส้เล็ก ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนไอออน ไอออนของซีเซียมและแทลเลียมจะถูกแลกเปลี่ยนกับไอออนของโพแทสเซียมที่ผิวของปรัสเซียนบลูคริสตัล ปรัสเซียนบลู ที่รับประทานเข้าไปเกือบทั้งหมดจะไม่ถูกดูดซึมโดยร่างกาย ดังนั้น ปรัสเซียนบลูคริสตัลที่ประกอบด้วย ซีเซียม-137 และแทลเลียมจะเคลื่อนที่ผ่านลำไส้และถูกขับถ่ายออกมากับอุจาระ

 

 

ปรัสเซียนบลู จึงช่วยลดการดูดซึม สารเหล่านี้กลับสู่ร่างกายในลำไส้เล็ก และช่วยเร่งการขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกาย พบว่าปรัสเซียนบลูสามารถลด ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ (biological half-life) ของซีเซียม-137 จาก 110 วันเหลือประมาณ 30 วัน และลดครึ่งชีวิตทางชีวภาพ ของแทลเลียมจาก 8 วันเหลือเพียง 3 วัน จึงช่วยจำกัดปริมาณรังสีและพิษ ที่ร่างกายจะได้รับจากซีเซียม-137 และแทลเลียมภายในร่างกาย

 

 

เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรังสีที่ ประเทศบราซิลในปี 1987 ปรัสเซียนบลูถูกนำมาใช้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับ ซีเซียม137 เข้าสู่ภายในร่างกาย พบว่าปรัสเซียนบลูมีฤทธิ์กระตุ้นการถ่ายอุจจาระ จากผู้ป่วยที่มีการขับถ่าย ปัสสาวะต่ออุจจาระ สัดส่วน 4 : 1 หลังจากได้รับปรัสเซียนบลูเพื่อขับซีเซียม-137 พบว่าสัดส่วนการขับถ่าย ปัสสาวะต่ออุจจาระ ลดลงเป็น 1 : 4 ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งจากการรับประทานปรัสเซียนบลูคืออาการท้องผูก ซึ่งพบร้อยละ 20 ในผู้ป่วยจากเหตุการณ์นี้ แพทย์ต้องให้ยาถ่ายอย่างอ่อนเพื่อกระตุ้นการขับถ่ายและช่วยขับซีเซียม-137 ที่รวมตัวกับ ปรัสเซียนบลู ออกมา

 

 

อย่างไรก็ตาม ปรัสเซียนบลูค่อนข้างปลอดภัยเมื่อร่างกายได้รับโดยการรับประทาน ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกล่าวว่า ผู้ใหญ่เพศชายสามารถรับประทานปรัสเซียนบลูในปริมาณ 10 กรัมต่อวันโดยไม่มีอันตราย ในการรักษา แพทย์จะให้แคปซูลของปรัสเซียนบลูปริมาณ 500 มิลลิกรัม โดยให้สามครั้งต่อวัน เป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน หรือตามอายุและปริมาณการได้รับสารกัมมันตรังสี ของผู้เข้ารับการรักษา และในการรับประทานปรัสเซียนบลู ควรเฝ้าระวังระดับโพแทสเซียมในร่างกาย เนื่องจาก ซีเซียมจะถูกแลกเปลี่ยนกับโพแทสเซียมที่ผิวของผลึกปรัสเซียนบลู

 

 

การรักษาด้วยปรัสเซียนบลูนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์  แพทย์จะให้รับประทานปรัสเซียนบลูก็ต่อเมื่อ ผู้ประสบภัยทางรังสีจะได้ประโยชน์จากการรักษาเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว การได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายเกินกว่า 10 เท่าของ ขีดจำกัดการรับนิวไคลด์กัมมันตรังสีรอบปี (annual limit on intake) มักจะต้องได้รับการรักษา

 

 

ปรัสเซียนบลู ที่ผลิตขึ้นรูปของแคปซูลสำหรับใช้ต้านพิษ มีชื่อทางการค้าว่า Radiogardase ผู้ประสบภัยทางรังสี ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และไม่ควรรับประทานสีปรัสเซียนบลูที่ใช้ในการวาดเขียน เพราะสีสำหรับวาดเขียน ไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการขับพิษออกจากร่างกาย

 

 

ข้อมูล : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ