ข่าว

สรุปปม 'ซีเซียม-137' (เกือบ) ซ้ำรอย โคบอลต์-60

สรุปปม 'ซีเซียม-137' (เกือบ) ซ้ำรอย โคบอลต์-60

20 มี.ค. 2566

สรุปปม พบสารกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' (เกือบ) ซ้ำรอย 'โคบอลต์-60' ที่เกือบกลายเป็น โศกนาฏกรรม กับบทเรียนซ้ำซาก

เป็นเวลา 10 วัน ที่วัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" หายไปอย่างไร้วี่แวว จากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปูพรมค้นหา เพราะสังคมเริ่มวิตกกังวล และจับตาการค้นหาวัตถุกัมมันตรังสีดังกล่าว เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ได้สัมผัส หวั่นซ้ำรอยเหตุการณ์ "โคบอลต์-60"

 

คมชัดลึก สรุปประเด็นการหายไปของ ซีเซียม-137 นับตั้งแต่วันรับแจ้ง จนนำไปสู่การค้นพบ ที่เกือบจะเป็นโศกนาฏกรรม

ซีเซียม-137

ไทม์ไลน์ "ซีเซียม-137" สูญหาย

 

1. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งเหตุ วัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" สูญหาย จากสถานประกอบการทางรังสี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566

 

2. วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไป ลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ติดอยู่ที่ปลายท่อโรงไฟฟ้า แต่ทางบริษัทไม่ทราบว่า หายไปได้อย่างไร และหายไปตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งผู้แทนบริษัทฯ ที่เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ศรีมหาโพธิ เกรงว่า จะเป็นอันตรายถ้ามีผู้ไปสัมผัส

 

3. นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการ จ.ปราจีนบุรี นำทัพ ระดมทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาซีเซียม-137 ที่สูญหาย โดยเข้าตรวจสอบสถานประกอบการกิจการรับซื้อเศษโลหะ และโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง ภายใน อ.ศรีมหาโพธิ โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดทางรังสี ในการสำรวจวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย แต่ก็ยังไม่พบ และยังไร้วี่แวว

 

4. การค้นหายังคงเข้มข้น โดยนำโดรนบินจับสัญญาณกัมมันตรังสี บริเวณร้านคู่ค้าของเก่าย่านโรงงาน แต่ก็ยังไม่พบสัญญาณ และยังไม่มีคนป่วยแจ้งเข้ามา เนื่องจากข้อมูลพบว่า ซีเซียม-137 เป็นสารอันตราย 

 

5. โรงไฟฟ้า ได้ตั้งรางวัลสำหรับคนที่ชี้เบาะแส จนนำไปสู่การติดตาม "ซีเซียม-137" กลับคืนมาได้ ครั้งแรก 50,000 บาท และได้เพิ่มเป็น 100,000 บาท

ซีเซียม-137

เปิดข้อมูลอันตราย "ซีเซียม-137"

 

6. ซีเซียม-137 (Cs-137) คือสารไอโซโทปของซีเซียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา เป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส

 
7. ซีเซียม-137 เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งโอกาสที่จะเป็นมะเร็ง ต้องได้รับสารปนเปื้อน เมื่อได้รับเข้าไปจะกระจายไปทั่ว ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับ และไขกระดูก

 

8. เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากอยู่ในสภาพปกติ จะไม่เกิดผลกระทบใดๆยกเว้นมีการผ่า และสารกัมมันตรังสีรั่วไหล ผู้ที่สัมผัสจะเกิดอันตราย

 

9. หากท่อบรรจุสารถูกชำแหละ จะทำให้สารถูกปล่อยออกมามากขึ้น และเนื่องจากมีลักษณะเป็นผง อาจจะทำให้มีการสูดดม หรือสัมผัสโดยตรง เช่น หากเอามือไปจับ อาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ หรือถึงขั้นสูญเสียอวัยวะบริเวณนั้นไป นอกจากนี้ สารนี้ยังส่งผลต่อระบบเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวอีกด้วย

 

10. นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ระบุว่า ซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีเบต้าและรังสีแกมม่า ส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับรังสีนั้น

ซีเซียม-137

 

เจอ "ซีเซียม-137" ในสภาพถูกหลอม

 

11. วันที่ 9 ของการค้นหา (19 มี.ค.2566) พบ ซีเซียม-137 แล้ว ที่โรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ใน อ.ศรีมหาโพธิ ในสภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง เตรียมหลอมตามรอบ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประเมินว่า วัตถุซีเซียม-137 ถูกถลุงไปหมดแล้ว หลังตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในฝุ่นแดงของโรงงานถลุง

 

12. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตรวจเช็กอย่างละเอียด และยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง เป็นวัสดุกัมมมันตรังสีซีเซียม-137 ทางจังหวัดปราจีนบุรี ได้ประกาศปิดโรงงาน และกันพื้นที่ ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงาน เพื่อความปลอดภัย

 

13. บริษัทฯ รับซีเซียม-137 มาหลอมถลุงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารับมาจากที่ไหน แต่สิ่งที่ต้องตามต่อ คือ ทางโรงงานที่ถลุงดังกล่าว ได้ขออนุญาตส่งฝุ่นแดงไปรีไซเคิลที่โรงงานไหนแล้วบ้าง

 

14. ล่าสุด ผู้ว่าราชการ จ.ปราจีนบุรี พร้อมสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว สรุปได้ว่า 

 

  • ซีเซียม-137 ที่หายไป ยังหาไม่เจอ และยังไม่รู้ว่าใครเอาออกไป
  • สิ่งที่พบ คือ ฝุ่นแดง ที่มีการปนเปื้อนซีเซียม-137 แต่ปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไม่เกิดการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่ และใกล้เคียง
  • ส่วนซีเซียม-137 หายไปจากจุดที่ตั้ง และ ฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ได้อย่างไร ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบทั้งหมด

ซีเซียม-137

ย้อนรอยโคบอลต์-60

 

15. ปี 2543 พ่อค้าเร่รับซื้อของเก่า ได้รับซื้อกล่องโลหะทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 ซม. ยาวประมาณ 80 ซม. ในราคา 8,000 บาท จากบริเวณลานกว้างริมถนนอ่อนนุช ต่อมานำมาเก็บไว้ที่บริเวณบ้านพัก หลังจากสัมผัสแท่งเหล็กดังกล่าว เกิดอาการอาเจียนและอ่อนเพลีย และมีอาการคันที่มือทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่ได้ทำการรักษาที่ไหน

 

16. ต่อมา พ่อค้าเร่รับซื้อของเก่า นำชิ้นส่วนไปขายที่ร้านค้าของเก่า และทางร้านได้ให้คนงานผ่าแท่งเหล็กออกมา โดยบางส่วนที่ไม่สามารถผ่าไม่สำเร็จเจ้าของร้านได้มอบให้ผู้ค้าเร่รับซื้อ นำกลับไปแยกชิ้นส่วนต่อที่บ้าน ก่อนที่จะนำมาขายอีกครั้งที่ร้านเดิม

 

17. อาการป่วยของพ่อค้าเร่ ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนต้องไปรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 57 เมื่อตรวจอาการและซักประวัติแล้ว สงสัยว่าจะได้รับสารกัมมันตรังสี จึงนำไปสู่การแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการกู้สารกัมมันตรังสี โคบอลต์-60 สำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2543

 

18. เหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่การยื่นฟ้องบริษัทเอกชน โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 12 คน เนื่องจากบริษัทเอกชนเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งชาติ (พปส.) ตามกฎหมาย และยังประมาทเลินเล่อ ไม่จัดเก็บเครื่องฉายให้ปลอดภัย ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกำหนด โดยนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ทิ้งไว้ในโรงรถเก่า

 

19. ปี 2559 ศาลฎีกาพิพากษาให้บริษัทเอกชน จ่ายค่าเสียหายกว่า 5 แสนบาท ไม่รวมดอกเบี้ยให้กับผู้เสียหายทั้งหมด

 

บทสรุป

จากเหตุการณ์สารกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" หาย ที่เกือบจะซ้ำรอย "โคบอลต์-60" แม้จะยังไม่พบประชาชนได้รับผลกระทบ กลายเป็นเรื่องสะท้อนบทเรียน วัวหายล้อมคอก ที่ควรต้องเรียนรู้ และจดจำ จนนำไปสู่การป้องกัน