ย้อนรอยทุจริต 'เงินทอนวัด' คืน สมณศักดิ์ 'พระพรหมดิลก' พ้นมลทิน
ย้อนรอย 5 ปี คดีทุจริต 'เงินทอนวัด' คืน สมณศักดิ์ 'พระพรหมดิลก' พ้นมลทิน กลับสู่ วัดสามพระยา ไม่ใช่ครั้งแรก ในวงการ พระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ รองสมเด็จพระราชาคณะ "พระมหาเอื้อน หาสธมฺโม" (เปรียญธรรม 9 ประโยค) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ที่ราชทินนาม "พระพรหมดิลก" หลังพ้นมลทินทุกคดีทุจริต "เงินทอนวัด" ให้ถือว่าไม่เคยถูกถอดถอนสมณศักดิ์ และราชทินนามมาก่อน นั่นเป็นประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษา ที่ส่งผลให้ พระพรหมดิลก พ้นมลทิน ไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ หลังกินเวลายาวนาน 5 ปี
เมื่อย้อนไปเมื่อปี 2561 คดีทุจริต "เงินทอนวัด" นับเป็นคดีใหญ่ ที่สะเทือนวงการพระพุทธศาสนาของประเทศไทย จากการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำกำลังเข้าตรวจค้นผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เชื่อมโยงพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป กลายเป็นข่าวที่กระทบต่อความรู้สึก และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
เหตุการณ์ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมพระเถระ คือ พระพรหมดิลก วัดสามพระยา และพระเลขานุการ พระพรหมสิทธิ และเจ้าคุณกับพระครู รวม 5 รูปแห่งวัดสระเกศฯ ตั้งข้อหาเรื่อง เงินทอนวัด และจับกุมโดยไม่ให้ประกันตัว ต้องเข้าเรือนจำ ซึ่งเมื่อเข้าเรือนจำต้องเปลื้องจีวรออก
ต่อมาศาลได้พิจารณาตามข้อกล่าวหาแล้วพบว่า ไม่มีเงินทอนวัด ไม่มีทุจริต ไม่มีใครได้ผลประโยชน์ นอกจากใช้เงินผิดประเภทเท่านั้น ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัวพระเถระทั้งหมด คือพระพรหมดิลก กับพระเลขา พระพรหมสิทธิ และท่านเจ้าคุณวัดสระเกศอีก 5 รูป ส่วนพระพรหมเมธี (จำนงค์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เดินทางลี้ภัยไปประเทศเยอรมนี
เมื่อศาลให้ประกัน พระทุกรูปก็เดินทางกลับวัดเดิม อธิษฐานตนเองในพระอุโบสถ เพื่อกลับไปครองจีวร ทั้งนี้ เมื่อศาลพิสูจน์ว่า พระทุกรูปไม่มีความผิด และพ้นข้อกล่าวหา ไม่ว่าเรื่องอาบัติปราชิก หรือการทุจริต
หลังจากนั้น สำนักงานพระพุทศานาแห่งชาติ ได้เสนอให้พระมหาเถระสมาคม พิจารณาว่า พระเถระทั้ง 7 รูปนั้น ยังเป็นพระ หรือขาดจากความเป็นพระ ซึ่งเรื่องนี้กรรมการมหาเถรสมาคม ได้พิจารณาว่า พระทั้งหมดขาดจากความเป็นพระแล้ว และสำนักพุทธฯ ได้แจ้งความดำเนินคดี กรณีที่พระเถระเหล่านั้นกลับมาครองจีวรว่า แต่งตัวเลียนแบบพระสงฆ์ และแจ้งข้อหาที่สถานีตำรวจให้ดำเนินคดี พระเถระทั้งหลายพอทราบเรื่อง ก็ทำเรื่องโต้แย้งกับตำรวจว่า
- พระเถระทั้งหลายที่ถูกกล่าวโทษ ไม่เคยเปล่งวาจาลาสิกขา (สึก)
- ได้นำเอกสารที่กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า กรมฯ ไม่ได้สึกพระ และไม่มีใครจับสึก พร้อมทั้งยืนยันว่า พระเถระไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขาแต่อย่างใด
- ได้นำเอกสารจากตำรวจสอบสวนกลางยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ดำเนินคดี เพื่อจับท่านสึก ตำรวจแค่ดำเนินการติดตามเส้นทางการเงินเท่านั้น
- เอกสารของศาล ยืนยันว่า ศาลยังเรียกทุกท่านว่าเป็นพระ ทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดีในศาล แม้บางครั้งอัยการของสำนักพุทธฯ จะใช้วาจาดูหมิ่นพระเถระที่เป็นจำเลย ศาลได้ตักเตือนว่า กรุณาให้เกียรติแก่พระด้วย
- คำพิพากษาของศาลยืนยัน เรื่องเส้นทางการเงินนั้นว่า เงินทั้งหมดถูกใช้ไปเพื่อพระพุทธศานาจริง ไม่มีพระรูปไหนได้ผลประโยชน์ และไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ คนใดได้รับเงินทอนจากการนี้
ย้อนรอย การคืนสมณศักดิ์พระเถระ
เรื่องการคืนสมณศักดิ์ พระเถระ เคยมีมาแล้วในอดีต เมื่อรัชกาลที่ 6 สั่งถอดสมณศักดิ์พระเทพโมลี (จันทร์) วัดบรมนิวาส เพราะแสดงพระธรรมเทศนาขัดกับนโยบายในสมัยนั้น ต่อมาผ่านไป 1 ปี ก็ได้คืนสมณศักดิ์ให้ และได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้น จนถึงขั้นเป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
ในรัชกาลที่ 9 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งถอดสมณศักดิ์ พระเถระ ดังนี้
- พระพิมลธรรม (อาจ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ข้อหาฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
- พระศาสนโสภณ (ปลอด) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ถูกถอดสมณศักดิ์ข้อหาเหมือนพระพิมลธรรม
ต่อมาสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้คืนสมณศักดิ์ให้พระเถระทั้ง 2 รูป เมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม 2518
อย่างไรก็ตาม พระพรหมดิลก ได้กลับคืนสู่สมณเพศ มาตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.2563 ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ พร้อมให้ผู้แทนพระองค์ เชิญสมณศักดิ์ถวาย พระพรหมดิลก วัดสามพระยา เมื่อพ้นมลทิน คดีทุจริตเงินทอนวัด