ข่าว

เปิดความต่าง 'PM10' - 'PM2.5' แตกต่างกันอย่างไร อันตรายและกระทบสุขภาพยังไง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดความต่าง 'PM10' กับ 'PM2.5' แตกต่างกันอย่างไร อันตรายและกระทบสุขภาพยังไง พร้อมสาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง 'PM2.5'

ท่ามกลางสถานการณ์ ฝุ่นละออง 'PM2.5' ที่นับจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งล่าสุดไทยยังคงติดอันดับโลกที่มีคุณค่าอากาศแย่ที่สุด ซึ่งจากการรายงานถึงสภาพอากาศที่มีทั้ง 'PM2.5' และ 'PM10' โดยหลายคนอาจมีความสงสัยว่าทั้งสองตัวนี้มีความเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

 

PM หรือ Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ 'PM10' และ 'PM2.5'

 

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน 'PM2.5' เรียกว่า ฝุ่นละเอียด (Final Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 2.5 ไมครอน และแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถึงจะเป็นเพียงฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว แต่เมื่อมาอยู่รวมกันจะกินพื้นที่ในอากาศมหาศาล ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณสูง เกิดเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกัน PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ มีขนาดเล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ และตัวฝุ่นจะเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอีกด้วย

 

 

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน 'PM10' เรียกว่า ฝุ่นหยาบ (Course Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2.5-10 ไมครอน ฝุ่นประเภทนี้เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากแล้วมักจะสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น ฝุ่นที่เกาะอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้ เกสรดอกไม้ หรือฝุ่นละอองจากงานก่อสร้าง

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น 'PM2.5'

  • การคมนาคมขนส่ง ควันจากท่อไอเสีย และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ 
  • การผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ การเผาปิโตรเลียมและถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซพิษจากการเผาไหม้ 
  • การเผาเพื่อทำการเกษตร การก่อสร้าง 
  • การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศโดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของ ไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)

 

อันตรายและผลกระทบทางสุขภาพจาก ฝุ่นละออง 'PM2.5'

 

ฝุ่นละออง 'PM2.5' เป็นฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่มีกลิ่น ขนาดเล็กมาก สามารถผ่านเข้าไปในร่างกายเราลึกได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมเข้าเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกาย กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สำหรับผลระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย

 

ดัชนีคุณภาพอากาศ ของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพนอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้นข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชน

 

 

ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) เป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่

  • ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
  • ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10)
  • ก๊าซโอโซน (O3)
  • ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
  • ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
  • ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)

 

ช่วงเวลาเฉลี่ย และหน่วยสาร มลพิษทางอากาศ ที่ใช้ในการคำนวน

 

'PM2.5' เฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง : ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ มคก./ลบ.ม. หรือ µg./m3

'PM10' เฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง : ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ มคก./ลบ.ม. หรือ µg./m3

 

 

ข้อมูล : กรมควบคุมมลพิษสำนักหอสมุด KMUTT Library

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ