ข่าว

'ชุดนักเรียนไทย' นักท่องเที่ยวจีน แห่ใส่ กลายเป็น เหรียญสองด้าน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ชุดนักเรียนไทย' นักท่องเที่ยวจีน แห่ใส่ ไวรัลบนโลกออนไลน์ ดัน ซอฟพาวเวอร์ ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจะกลายเป็น เหรียญสองด้าน?

กำลังเป็นกระเเสไวรัลสนั่นโลกโซเชียล เมื่อเทรนด์ฮิต นักท่องเที่ยวจีน สวมใส่ "ชุดนักเรียนไทย" เช็คอินไปตามสถานที่ต่างๆ และถ่ายภาพสวยๆ ลงโซเชียล ทำให้ในตอนนี้วัยรุ่นจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย ต่างเเห่เเต่งตัวชุดนักเรียนเดินเที่ยวกัน และ บางลำพู กลายเป็นหมุดหมายใหม่ ที่เหล่าวัยรุ่นชาวจีน ต้องไป

 

ก่อนหน้านี้ กระแสชุดนักเรียนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่า มาจากภาพยนตร์และซีรีส์ของไทย ที่ถูกนำไปฉายในต่างแดน อย่างเรื่อง "สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก" และ "เด็กใหม่ 2" ที่มีการดำเนินเหตุการณ์ในช่วงวัยมัธยม ทำให้ได้เห็นนักแสดงนำ สวมใส่ชุดนักเรียนบ่อยครั้ง

หากมองในแง่ของการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด จากกระแสที่เกิดขึ้น อาจมองได้ว่า การที่นักท่องเที่ยวจีน ให้ความนิยม แต่งชุดนักเรียนไทย เที่ยวเมืองไทย ทั้งกรุงเทพ และภูเก็ต รวมถึงการถ่ายรูป โพสต์ลงโซเชียลจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น Soft Power ได้เป็นอย่างดี 

 

ไม่เพียงแต่ปลุกกระแสด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น ยังถือเป็นการกระตุ้นยอดขายชุดนักเรียน ให้กับร้านค้าย่านบางลำพู ได้บ้าง แม้ว่าจะไม่มากนัก เพราะช่วงที่ขายชุดนักเรียนที่มียอดขายสูง จะเป็นช่วงก่อนเปิดภาคเรียน 

กระแสนักท่องเที่ยวชาวจีนสวมชุดนักเรียนไทยท่องเที่ยว

และจากกระแสที่มาแรงสุดๆ นั้น สังคมบางส่วนก็ตั้งคำถามว่า การสวมชุดนักเรียนไทย ที่ถูกทำให้กลายเป็นชุดคอสเพลย์ นั้น มันถูกต้องหรือไม่ หากจะมองกันในแง่ของกฎหมายแล้วนั้น ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ระบุไว้ว่า ผู้ใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง หรือแต่งกายเลียนแบบเครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
 

แต่หากจะดูกันที่บริบทที่เกิดขึ้น ทนายความ ระบุว่า บางเรื่องก็ต้องดูกันที่เจตนา จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า จะถือเป็นความผิดสมบูรณ์หรือไม่

ไวรัลนักท่องเที่ยวจีนสวมชุดนักเรียนไทย

ส่วนอีกมุมหนึ่งนั้น หลายคนก็แสดงความกังวล ถึงภาพลักษณ์ของ "ชุดนักเรียนไทย" ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุลอดีตประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาเอก (นานาชาติ) ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาจจะเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน เพราะช่วงหนึ่งมีประเด็นเด็กนักเรียน ที่ประท้วงไม่อยากแต่งชุดนักเรียน แต่อีกมุม ก็กลับมาดังจากชาวจีน ที่เป็นพวกบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ แต่งชุดนักเรียน และได้รับความนิยมในหมู่ของคนจีน

กระแสชุดนักเรียนไทย

นอกจากนี้ หากย้อนไปปี 2564 บนโลกทวิตเตอร์ มีการพูดถึงแฮชแท็ก #ไม่สนับสนุนคอนเทนต์ชุดนักเรียน โดยผู้ที่ออกมารณรงค์คือ บรรดาแอคเค่อ หรือ ผู้ผลิตคอนเทนต์แนววาบหวิว เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการใส่ชุดนักเรียน เพื่อทำคอนเทนต์แนว 18+ เพราะนั่นคือการสนับสนุนให้เกิดการอาชญากรรมกับเด็กทางอ้อม ซึ่งแฮชแท็กดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมและได้รับการสนับสนุนต่อมา
 

ทั้งนี้ การผลักดัน "ชุดนักเรียนไทย" ให้กลายเป็น soft power ถือเป็นโอกาสดี เพราะในกรณีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ก็มีให้เช่าชุดนักเรียนกันแบบจริงจัง ก็น่าจะเป็นตัวกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี แต่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ชัดเจน เพื่อไม่ให้กลายเป็นเหรียญสองด้าน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ