ข่าว

'วันนักข่าว' วันที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นวันหยุดประจำปีของ นักหนังสือพิมพ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5 มีนาคม 'วันนักข่าว' หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ วันที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นวันหยุดประจำปีของ นักหนังสือพิมพ์

'วันนักข่าว' หรือ 'วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ' ในประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน)

 

 

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือโชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และเลิศ อัศเวศน์ นัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมี ชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม

 

โดย หนังสือพิมพ์ แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่านว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย แต่แล้วหนังสือพิมพ์ก็แอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนในฐานะผู้อ่านเกิดความตื่นตัว และมีความต้องการที่จะบริโภคข่าวสารที่มากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป

 

 

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่างๆ ตามความเหมาะสม

 

 

ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น 'สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย' เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และ 'วันนักข่าว' จนถึงปัจจุบัน

 

รายชื่อ 16 หนังสือพิมพ์ ที่ร่วมลงนามก่อตั้ง 'วันนักข่าว'

 

1. หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์

2. หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์

3. หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม

4. หนังสือพิมพ์ซินเสียง

5. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

6. หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว

7. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

8. หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย

9. หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

10. หนังสือพิมพ์หลักเมือง

11. หนังสือพิมพ์ศิรินคร

12. หนังสือพิมพ์สยามนิกร

13. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

14. หนังสือพิมพ์สากล

15. หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์

16. หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

 

 

ในปีนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะจัดงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 68 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 - 12.00 น.  ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเดอะแลนด์มาร์ค

 

 

ซึ่ง คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย  ได้ให้เกียรติมากล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การพัฒนาที่ยั่งยืนกับทางรอดประเทศไทย" Sustainable development and the future of Thailand

 

 

รวมทั้งในงานจะมีการประกาศผลและมอบ รางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดประกวดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2515 เพื่อเป็นการรำลึกถึง นายอิศรา อมันตกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับและอดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มและบุกเบิกงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย  และการมอบรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ของชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

ที่มา : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ