ข่าว

องค์กรสตรี ยื่น 8 นโยบายผู้หญิง ต่อ พรรคการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์กรสตรี เสนอ 8 ข้อ นโยบายผู้หญิงต่อพรรคการเมือง หวังส่งเสริมบทบาทความเสมอภาค และความเป็นธรรมระหว่างเพศ ทั้งความปลอดภัย และความมั่นคงในชีวิตให้กับเด็ก และผู้หญิง ย้ำการกำหนดนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ต้องมาจากความเข้าใจปัญหาที่แท้จริง

เนื่องจากวันที่ 8 มีนาคม ที่จะถึงนี้ เป็นวันสตรีสากล ทางเครือข่ายมูลนิธิเพื่อนหญิงและมูลนิธิพิทักษ์สตรี เล็งเห็นความสำคัญของเพศหญิง จึงขอยื่น 8 ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองสำหรับการกำหนดเป็นนโยบายผู้หญิง ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง2566

 

นางธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ระบุว่า จากสถิติแรงงานไทยปี 2565 มีทั้งหมด 58.73 ล้านคน เป็นแรงงานชาย 27.96 ล้านคน เป็นหญิง 30.67 ล้านคน มีจำนวนแรงงานหญิง อายุ 15 ปีขึ้นไป 29.58 ล้านคน และเป็นแรงงานในระบบ 17.65 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 11.43 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่มีงานทำ 17.25 ล้านคน เป็นผู้หญิงว่างงาน 0.38 ล้านคน

 

ส่วนสถิติข้อมูลศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้หญิง-เด็ก ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดทางเพศ ท้องไม่พร้อม เฉลี่ยปีละ 25,000 -30,000 ราย และยังมีจำนวนมากที่เก็บเรื่องเงียบไว้ เพราะ อาย ไม่อยากให้ใครรู้ หรือกลัวถูกคุกคามจากผู้กระทำ เป็นต้น

 

แม้รัฐจะมีรัฐสวัสดิการแม่และเด็ก ส่งเสริมอาชีพ สร้างงานเพิ่มรายได้ เพิ่มราคาพืชผลการผลิต เพิ่มบุคลากร แต่ก็ยังมีข้อจำกัดของการเข้าถึงนโยบายของผู้หญิง ด้วยเหตุแห่งเพศที่คนส่วนมากยังไม่เข้าใจในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ บทบาทหญิงชาย

 

ดังนั้น การวางแผนนโยบายที่ขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่ได้คำนึงถึงเพศสภาพ การสร้างความมั่นคงในชีวิต รวมถึงความล่าช้าของระบบราชการ เป็นปัจจัยที่นำมาสู่ปัญหาการเลือกปฎิบัติในโอกาสของการทำงาน การพัฒนาศักยภาพ การว่างงาน ตกเป็นผู้เสียหายของความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ขบวนการค้ามนุษย์ และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ รวมถึงการมีส่วนร่วมในสังคมของผู้หญิงและเด็กหญิง

องค์กรสตรี ยื่น 8 นโยบายผู้หญิง ต่อ พรรคการเมือง

ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2566 จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย พบว่าพลเมืองที่มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้หญิงจำนวน 27,500,781 คน ในขณะที่ผู้ชาย 25,400,108 คน ทำให้ทางองค์กรสตรี มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมือง เพื่อจะได้ส่งเสริมความเสมอภาคให้กับเด็กและผู้หญิง 8 ข้อคือ

 

1.ยกระดับหรือจัดให้มีกองทุนแม่เลี้ยงเดี่ยว 

 

2.ครอบครัว โรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกระดับและสถานที่ทำงานต้องมีมาตรการความปลอดภัยจากการทุบตี ทำร้าย คุกคามทางเพศ ความรุนแรงทุกรูปแบบ 

 

3.เข้าถึงสิทธิการรักษา ส่งเสริมป้องกัน หลักประกันสุขภาพ สปสช. ของกระทรวงสาธารณสุข และประกันสังคมและกระทรวงแรงงาน ให้สิทธิการรักษา การเจ็ยป่วยของผู้หญิงฟรี เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก รวมถึงการคุมกำเนิดและการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและฟรีเข้าถึงง่ายรวมถึงสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีสำหรับ เด็กผู้หญิงและและผู้หญิงที่มีฐานะยาจน

 

4.กระทรวงการต่างประเทศ ควรยกระดับการทำงานเชิงรุก คุ้มครองหญิงไทยที่ไปทำงาน แต่งงานในต่างประเทศ ป้องกันการถูกล่อลวง และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือหญิงไทยของภาคเอกชน ในประเทศต่างๆ 

 

5.กระทรวงแรงงาน ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยยึดหลักมาตราฐานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งกฎหมายประกันสังคมได้ให้ลูกจ้างหญิงสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างจากประกันสังคม 45 วัน นายจ้าง 45 วัน แต่อีก 8 วันที่เพิ่มเข้ามา ต้องมีการจ่ายค่าจ้าง จากนายจ้าง โดยอิงกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่คิดเป็นวันลาเพื่อการฝากครรภ์ ทั้งนี้การลาเพื่อการฝากครรภ์ กฎหมายประกันสังคม จะต้องจัดสวัสดิการแม่และเด็กของแรงงานหญิง โดยให้สิทธิเพิ่มวันการลาเพื่อการฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ จำนวน 8 วัน โดยได้รับค่าจ้าง เงินจากส่วนดอกผลของกองทุนประกันสังคม


6.สร้างโอกาส สนับสนุนเพิ่มช่องทางพิเศษ ปรับแก้กฎระเบียบ การกำหนดเกณฑ์การประเมินผลการทำงานบนฐานของเพศสภาพ เปิดทางให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน ทุกระดับของหน่วยงานของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ 

 

7.เพิ่มการดูแลสุขภาวะอนามัยของผู้หญิง ในเรื่องอาคารสถานที่ ที่มีคนใช้จำนวนมาก โดยให้เพิ่มพื้นที่ห้องน้ำผู้หญิงให้เพียงพอ ทั่วถึง เอื้อต่อเพศสภาพที่ผู้หญิงต้องมีรายละเอียดด้านสุขภาวะมากกว่าชาย ลดการเข้าแถวรอ และการเจ็บป่วยจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง

 

8. หน่วยงานภาครัฐ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องมีมาตรการส่งเสริมบทบาท สร้างโอกาส ให้เกิดความเสมอภาคเป็นธรรมระหว่างเพศ คำนึงถึงเพศสภาพ ในการดำเนินงาน การเสนอนโยบาย และการจัดทำงบประมาณที่มีการใช้ฐานคิด Gender Responsive Budgeting (GRB) เพื่อเป็นหลักประกันให้หญิงชาย ตลอดทุกช่วงวัยได้เข้าถึงสิทธิ นโยบาย รัฐสวัสดิการ อย่างถ้วนหน้า เสมอภาค และเป็นธรรม

 

ปรากฏว่าพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค สนับสนุน 8 นโยบายผู้หญิงขององค์สตรี บางพรรคการเมืองรับปากจะบรรจุเป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง2566

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ