ข่าว

แห่ชม โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม 'เขาชะงุ้มฯ' ราชบุรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพียง 2 เดือน ผู้คนกว่า 100,000 คน เข้าเยี่ยมชม "โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ" จ.ราชบุรี

“รางวัลนี้ได้จากโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ  เป็นรางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดผลงานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการเกษตรที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ” นายแมน สุขเจริญ เกษตรกรดีเด่น ราษฎรบ้านสระน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวอย่างภาคภูมิใจขณะนำผลงานมาแสดงภายในงานน้อมรำลึกการก่อตั้งโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และงานวันดินโลก ปี 2565 ภายใต้ชื่อ “ผืนป่าและแผ่นดินที่พ่อสร้าง” ณ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

แห่ชม โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม \'เขาชะงุ้มฯ\' ราชบุรี

นายแมน สุขเจริญ  เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้เพาะปลูกดาวเรืองตัดดอก พร้อมทำไร่นาสวนผสม โดยปลูกพืชเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน เหลือแบ่งปันเพื่อนบ้าน หากมีมากจึงนำออกจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว  

  “ปลูกทุกอย่างที่เรากิน กินทุกอย่างที่เราปลูก และปลูกไม้ตัดดอก คือ ดาวเรือง นับเป็นพืชเศรษฐกิจ  ตอนนี้ราคาดีมาก วันนี้ถือว่าเดินมาถูกทางถูกเวลาแล้ว ที่ได้ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง และทุกครั้งที่มีการเปิดอบรมที่โครงการฯ เขาชะงุ้ม ซึ่งได้จัดขึ้นทั้งวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน การเพาะปลูกพืชที่อาศัยความเหมาะสมของธรรมชาติ ก็จะเข้าร่วมอบรมทุกครั้งทำให้มีความรู้นำมาปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ตลอดเวลา ปัจจุบันตนเป็นเกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการพระราชดำริเขาชะงุ้ม ผู้นำกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ (ดาวเรือง) หมู่  5 บ้านสระน้อยมีพื้นที่ 4 ไร่ครึ่ง  พืชที่ปลูกได้แก่ ดาวเรือง มะลิ และพืชผักสวนครัว” นายแมน สุขเจริญ กล่าว

แห่ชม โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม \'เขาชะงุ้มฯ\' ราชบุรี

ด้านนายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย  ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันทางโครงการมีอายุ 37 ปี พื้นที่ป่าบริเวณภูเขาเขียวด้านหลังโครงการจะมีพันธุ์ไม้ป่าเบญจพรรณขึ้นอย่างหนาแน่น ซึ่งประชาชนในพื้นที่ร่วมกับโครงการปลูกและช่วยกันดูแล ซึ่งเป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทางโครงการได้น้อมนำมาดำเนินการ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสาธิตการทำการเกษตรที่ถูกต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจแล้วนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง   

 

โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงทราบถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จะเป็นลักษณะของดินลูกรังและตื้น ไม่สามารถทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จได้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ “...ให้ดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ รวมทั้งทดสอบ วางแผน และจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยดำเนินการในลักษณะเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนา

แห่ชม โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม \'เขาชะงุ้มฯ\' ราชบุรี

ห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี...” และมีพระราชดำริอย่างต่อเนื่องอีก จำนวน 7 ครั้ง โครงการจึงได้ดำเนินการศึกษาหาวิธีการปรับปรุงดินให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ดังเดิมภายใต้แนวทางการอนุรักษ์ป่า ดิน และน้ำ  ในการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรมลักษณะภูเขาหัวโล้นให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นเดิมนั้น ได้ดำเนินการใน 2 แนวทาง ประกอบด้วย การปรับปรุงดินเพื่อให้กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร และการฟื้นฟูสภาพป่าในลักษณะสร้างป่าแบบไม่ต้องปลูกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการไม่บุกรุกเข้าทำลายป่าปล่อยให้ป่าฟื้นคืนเจริญเติบโตตามธรรมชาติ และ 30 ปีผ่านมา จากป่าเต็งรังปัจจุบันเป็นป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่ช่วยอุ้มน้ำและความชื้นไว้แก่พื้นที่ ยังผลต่อการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรอย่างที่ประจักษ์ในปัจจุบันนี้  

 

“นอกจากขยายผลผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองที่ประสบความสำเร็จแล้วไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ โครงการยังได้ขยายผลสู่ศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้และดูงานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้กว่า 10 แห่ง สามารถรองรับประชาชนผู้สนใจได้เพิ่มขึ้น เป็นการดูงานแบบการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากเกษตรกรที่น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริไปปฏิบัติใช้จนประสบความสำเร็จ ก็เป็นช่องทางในการขยายผลที่ได้ผลดีไม่น้อย ส่วนช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 จนทำให้มีการหยุดการเคลื่อนไหวในสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานได้  โครงการจึงใช้วิธีการถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ 

แห่ชม โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม \'เขาชะงุ้มฯ\' ราชบุรี

 เช่น Facebook โดยจัดทำ เพจเฟซบุ๊กของศูนย์ฯ หรือทาง YouTube เป็นวิดีโอสั้นถ่ายทอดแนวทางการประกอบอาชีพในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เช่น การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงใส้เดือนดินเพื่อเอามูลมาเป็นปุ๋ยบำรุงต้นพืช และการจัดทำภาชนะปลูกผักจากไม้ไผ่พร้อมดินปลูก และเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายแก่ประชาชนที่สนใจในขอบข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้มีพืชผักได้บริโภคภายในครัวเรือนช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 เป็นต้น” นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย  กล่าว

 

สำหรับการจัดงานน้อมรำลึกการก่อตั้งโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และงานวันดินโลก ปี 2565 กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานพิธีเปิดงาน  และนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. กล่าวรายงาน พร้อมชมกิจกรรมภายในงาน พบว่าผลสัมฤทธิ์ของโครงการได้ขยายผลการพัฒนาสู่พื้นที่เป้าหมายในชุมชน และโรงเรียนโดยรอบควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านการเกษตร และสร้างเครือข่ายเกษตรกรในท้องถิ่น

 

ปรากฏผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ในหลากหลายกิจกรรม เช่น กลุ่มพืชผักปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์  การให้ความรู้แก่เยาวชนในพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์นำชมโครงการ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร  ซึ่งในเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปีจะมีประชาชนเข้าชมโครงการ กว่า 100,000 คน ซึ่งเป็นสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมให้แก่จังหวัดราชบุรี อีกด้วย

 

ปัจจุบันโครงการได้น้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมั่นคงอย่างยั่งยืนสืบไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ