ข่าว

กรมอนามัย ห่วง 'เด็กเล็ก' กว่า 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากฝุ่น PM2.5

กรมอนามัย ห่วง ‘เด็กเล็ก’ กว่า 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากฝุ่น PM2.5 แนะใช้นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น ตามหลักการ กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นภายในห้อง และดันฝุ่นออก สามารถทำได้ทั้งในที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะ

20 ก.พ. 2566 นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เผยในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและขับเคลื่อนชุมชนเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างยั่งยืน”ที่ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ ว่ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้ยกระดับปฏิบัติการเพื่อดูแลและคุ้มครองสุขภาพประชาชน หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การผลักดันให้มีห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาดอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 สูง 

"ห้องปลอดฝุ่น มีหลักการคือ กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นภายในห้อง และดันฝุ่นออก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในที่อยู่อาศัยและสถานที่สาธารณะทั่วไป"

 

โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ควรต้องมีห้องปลอดฝุ่น เนื่องจากเด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของปอดและคุณภาพชีวิตในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี กว่า 2.6 ล้านคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากฝุ่น PM2.5

ต้นไม้ ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์

กรมอนามัย จึงดำเนินร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ(สสส.) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่นเพื่อป้องกันและผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยง พัฒนาแนวทางและสร้างต้นแบบห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ

อีกทั้งยังได้ร่วมกับกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา แกนนำชุมชน สมาคม และภาคเอกชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการจัดทำห้องปลอดฝุ่น แนวทางการขับเคลื่อนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและร่วมจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

 

ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO Thailand) กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่สำคัญเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ไทยเป็นประเทศที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการรับมือกับมลพิษทางอากาศ เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว ตามเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ทั้งการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย การปรับปรุงค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศที่คำนึงถึงสุขภาพ และการสื่อสารสร้างความรอบรู้ในระดับชุมชน ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชน

 

ซึ่งในปี 2566 นี้ WHO ร่วมกับกรมอนามัย รวบรวมและเผยแพร่ต้นแบบ (Best Practice) ทั้งนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและแนวทางการขับเคลื่อนชุมชน ที่มีการจัดการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ดี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

ข่าวยอดนิยม