ข่าว

'สพฉ.' เปิดข้อมูล 'รถกู้ชีพ' แบบไหน เถื่อน-ถูก ช่องโหว่ ด้านมืด อาสา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาธิการ 'สพฉ.' เปิดข้อมูล 'รถกู้ชีพ' แบบไหน เถื่อน-ถูก ช่องโหว่ ตบทรัพย์ ด้านมืด อาสา ยัน เรียกผ่าน 1669 ไม่เสียค่าใช้จ่าย

จากถ้อยคำสัมภาษณ์ของ "ไทด์ เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์" ในรายการคนดังนั่งเคลียร์ ที่ออกมาแฉด้านมืดของอาสาบางคน ที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะ ทั้งเปิดไซเรน เพื่อจะรีบไปถึงที่เกิดเหตุ แต่บางรายก็เป็นมิจฉาชีพ แฝงตัวมาในคราบของอาสา เพื่อจะมาตบทรัพย์ โดยเฉพาะเมื่อ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข มีเงินส่วนหนึ่งให้กับทาง พ.ร.บ. คือใครเกิดอุบัติเหตุเบื้องต้นต่าง ๆ ส่งโรงพยาบาลไหนก็ได้ เขาจะมีทุนสำรองไว้ให้ของรัฐบาล เจ็บเล็ก เจ็บน้อย มีทุนสำรองจ่ายให้ทุกราย ยิ่งทำให้เป็นช่องว่าง

 

"Ambulance ที่เป็นรถส่งตัวส่งคนเจ็บไม่มีตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน โรงพยาบาล แค่เอาไซเรนมาติด แค่นั้นเองก็วิ่งส่งคนเจ็บได้แล้ว ถามว่าทำไมมีเกลื่อนพื้นที่ เพราะว่า คนที่เจ็บญาติพี่น้องเขาติดต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลเรียกเขาแพง แต่รถอาสาที่ส่งตัวเขาเรียกถูกกว่า ก็ต้องเอาถูกไหม"

"ผมว่า ณ ปัจจุบันนี้คำว่า อาสา จิตอาสา มันมีกับคนบางคนทำโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำด้วยใจจริง ๆ ทำให้กับพี่น้องประชาชนจริง ๆ มันก็มีบ้าง มันก็มี แต่มีน้อย แต่เมื่อก่อนมีมาก แต่มาโดนผลประโยชน์ครอบงำ" นั่นเป็นคำพูดของ ไทด์ เอกพันธ์ หนึ่งในอาสามูลนิธิร่วมกตัญญู แฉด้านมืดของอาสาบางคน

 

ความแตกต่าง อาสากู้ชีพ-อาสากู้ภัย

 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้ข้อมูลกับคมชัดลึกออนไลน์ ว่า อาสา ส่วนที่อยู่กับ สพฉ. จะมี 2 ลักษณะ คือ กลุ่มที่เข้าระบบ กับกลุ่มที่อยู่นอกระบบ ซึ่งกลุ่มที่เข้าระบบ จะเป็นไปตามมาตรฐานที่ สพฉ.กำหนด ต้องทำงานภายใต้ 1669 ส่วนใหญ่กลุ่มที่มีปัญหา คือ กลุ่มที่เป็นของมูลนิธิ หรือ องค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร ซึ่งมูลนิธิหนึ่ง จะมีทั้งที่เข้าระบบ และบางส่วนก็ไม่เข้าระบบ แต่ส่วนใหญ่พวกที่ใช้ชื่อว่า อาสา จะไม่ได้เข้าระบบ ยังไม่เข้ามาตรฐาน คนไม่ได้อบรม รถไม่ได้ผ่านการประเมิน กลายเป็นกลุ่มนอกระบบ ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู หรือ ทุกมูลนิธิ จะเหมือนกัน คือจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นของมูลนิธิจริง ๆ ซึ่งเชื่อว่าเกือบ 100% เข้าระบบ

 

แต่ที่เห็นภาพของกลุ่มอาสา เกลื่อนไปหมด เนื่องจากมูลนิธิ ไม่ได้มีกฎระเบียบ ข้อบังคับ ดังนั้น อาสา ก็จะเป็นอาสากู้ภัยเป็นหลัก แต่ถ้าอาสากู้ชีพ ส่วนใหญ่อยู่ในระบบทั้งหมด 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

รถกู้ชีพแย่งคนเจ็บ ไม่ไปส่งโรงพยาบาลที่คนไข้ต้องการ

 

ต้องทำความเข้าใจ การรับเคสของรถกู้ชีพ หรือรับคนไข้จากจุดเกิดเหตุ หากเรียกบริการผ่านระบบ 1669 จะส่งเฉพาะในพื้นที่รับผิดชอบ 10 กิโลเมตร และไม่เสียค่าใช้จ่าย การไปส่งตามใจคนไข้ ก็ไม่ใช่หน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ต้องทำ เพราะการเอารถออกไปจากพื้นที่ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร แต่เคสที่พบอีกประเภท คือ ไม่ผ่าน 1669 แต่วิ่งไปรับเคสเอง พาไปโรงพยาบาลเอกชนที่มีคอนแทคกันอยู่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่หาคนไข้ไปให้โรงพยาบาลเอกชน

 

รถกู้ชีพ สพฉ.

 

ตลาดมืด รถกู้ชีพ

 

ตอนนี้ใครเห็นรถ Ambulance ก็คิดว่าเป็นของ สพฉ. แต่ความจริงแล้ว รถเหล่านี้ ลักษณะกายภาพรถ เป็นรถตู้ มีเตียงนอนก็จริง แต่ไม่ได้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน ส่วนหนึ่งไม่อยากเข้า เพราะถ้าเข้าแล้ว ก็จะถูกกำกับชัดเจน ไม่สามารถไปแสดงตัวเป็นพลเมืองดี ซื้อรถ แต่งตัว ทำตัวให้เหมือนเป็นคนดี ที่พร้อมออกปฎิบัติการตลอดเวลา มันก็เลยมีกลุ่มนอกระบบเกิดขึ้น บวกกับแรงจูงใจบางส่วน จากหน่วยงานเอกชนบางแห่ง ที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้เกิดตลาดใหม่ หรือตลาดมืด ปะปนกันไปหมด

 

เจ้าภาพควรเป็นหน่วยงานทุกหน่วย 

 

เลขาธิการ สพฉ. บอกว่า รถกู้ชีพส่วนใหญ่ตอนนี้ เป็นพวกนอกระบบ ที่เอารถส่วนตัวที่เอามาแต่ง ถึงแม้กฎหมายมีควบคุม แต่มีคำถามว่า ทำกันจริงจังหรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ไม่รู้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหา เพราะหากจะจัดการกับกลุ่มรถกู้ชีพนอกระบบ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา และสามารถเอาผิดได้หลัก ๆ 3 ข้อ คือไฟไซเรนที่เปิดวูบวาบ ,จดทะเบียนไม่ถูกกฎหมาย และการปฎิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ