ข่าว

'สมรสเท่าเทียม' ฝันที่รอเป็นจริงของ 'คู่รัก LGBTQ+'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สมรสเท่าเทียม' ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกพิจารณากันมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 31 ประเทศทั่วโลก ณ วันนี้ ประเทศไทย รอฝันที่เป็นจริงของ คู่รัก LGBTQ+

เรียกได้ว่า รักแห่งสยาม ภาพยนตร์ที่มาก่อนกาลถึง 16 ปี ได้จุดประกายความเข้าใจเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ ในสังคมไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อค่ำวันที่ 28 ก.ค. 2565 บริเวณลานกิจกรรมสยามสแควร์ ในกิจกรรม กรุงเทพฯ หนังกลางแปลง ได้ตอกย้ำในเรื่องนี้ หลัง สมรสเท่าเทียม เข้าใกล้ความเป็นจริง มันคือการทำให้ คู่รัก LGBTQ+ มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่เติบโตและสร้างชีวิตที่ดีขึ้นร่วมกันในความเป็นครอบครัวเดียวกัน

 

“บทสรุปของหนังเรื่อง รักแห่งสยาม ที่เราอยากเห็นคือโต้งและมิว สามารถรักกันและใช้ชีวิตคู่กันได้ในประเทศนี้เหมือนคู่รักชาย-หญิง ซึ่งต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกฏหมายและค่านิยมสังคม” พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าว

 

เช่นเดียวกับ ครูธัญ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้เสียงสนับสนุนจากสภาวาระแรก 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และ ไม่ลงคะแนน 4 เสียง

 

สำหรับก้าวต่อไปของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะผ่านด่านต่าง ๆ ไปได้ในชั้นการแปรญัตติและผ่านการพิจารณาที่เหลืออย่างน้อย 2 ขั้นตอนในชั้นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร หากร่างกฎหมายว่าด้วยการสมรสเท่าเทียมผ่านครบแล้ว ก็จะต้องออกมาเป็นกฎหมายสมรสอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการต่อสู้กันต่อในชั้นคณะกรรรมาธิการว่าจะได้เท่าเทียมจริงหรือไม่

 

กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกพิจารณากันมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 31 ประเทศทั่วโลก

ปี 2565 กลุ่มคู่รัก LGBTQ+ สร้างกระแส สมรสเท่าเทียม เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

31 ประเทศทั่วโลก สมรสเท่าเทียม

  1. นอร์เวย์
  2. สวีเดน
  3. เยอรมนี
  4. สเปน
  5. ออสเตรีย
  6. สหราชอาณาจักร
  7. ฝรั่งเศส
  8. สวิตเซอร์แลนด์
  9. เบลเยียม
  10. ฟินแลนด์
  11. ไอร์แลนด์
  12. ไอซ์แลนด์
  13. มอลตา
  14. เนเธอร์แลนด์
  15. โปรตุเกส
  16. ลักเซมเบิร์ก
  17. เดนมาร์ก
  18. สหรัฐอเมริกา
  19. แคนาดา
  20. คอสตาริกา
  21. เม็กซิโก
  22. บราซิล
  23. อาร์เจนตินา
  24. โคลอมเบีย
  25. ชิลี
  26. เอกวาดอร์
  27. อุรุกวัย
  28. ออสเตรเลีย
  29. นิวซีแลนด์
  30. แอฟริกาใต้
  31. ไต้หวัน

 

สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย

ไทยมีพ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เพิ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2556 แต่สิทธิก็ยังไม่ครอบคลุมและเท่าเทียมกับสิทธิของเพศทั่วไป  แต่ ร่างพ.ร.บ. เกี่ยวกับสิทธิการ สมรสเท่าเทียม จะทำให้ คู่รัก LGBTQ+ ในประเทศได้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนเพศอื่น ๆ ที่สามารถอุ้มบุญได้ใช้นามสกุลร่วมกันได้ สามารถได้รับสวัสดิการ รวมไปถึงมีสิทธิที่จะเซ็นอนุญาตรักษาพยาบาลอีกฝ่ายเป็นการลดความแบ่งแยก ให้ทุกคนมีสิทธิเท่า ๆ กัน ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่จะมีสิทธิสมรสเท่าเทียมที่จะให้สิทธิความเท่าเทียมกับทุกเพศ


ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

สภาผู้แทนราษฎรจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2565  ยังมีอีกหลายขั้นตอนก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า นอกจากในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 4 ขั้นตอนในการพิจารณาร่างกฎหมายก่อนประกาศบังคับใช้

 

ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากที่ กมธ.วิสามัญฯ ทำการแปรญัตติร่างกฎหมายหรือปรับแก้ร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย สภาผู้แทนฯ จะต้องพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายแบบรายมาตรา ว่าเห็นชอบด้วยกับการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ หรือ ให้คนไว้ตามร่างเดิม หรือจะปรับเปลี่ยนใหม่ตามที่มีผู้อื่นเสนอแก้ และเมื่อลงมติให้ความเห็นชอบรายมาตราเป็นที่เรียกร้อย จึงมาพิจารณากันต่อในวาระที่สามว่า สภาผู้แทนฯ จะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งฉบับหรือไม่

 

ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา

หากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พิจารณากันต่ออีกสามวาระ

 

ขั้นตอนที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หาก สว. ให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ให้นายกรัฐมนตรี, สส. หรือ สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ขั้นตอนที่ 4 ทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวว่าไม่ขัดขับรัฐธรรมนูญ ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

 

ขั้นตอนที่ 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ไอลอว์ตั้งข้อสังเกตว่า หาก สว.ไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะถูกยับยั้งไว้ก่อน เพื่อรอ สส. มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หรือ หาก สว.แก้ไขเนื้อหากฎหมาย ก็จะต้องส่งกลับมาให้ สส. พิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นต่างกันก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อปรับแก้กฎหมายใหม่อีกครั้งเพื่อเสนอให้ทั้งสองสภาลงมติใหม่ ทั้งนี้ หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วย ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน แล้ว สส. ถึงหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งได้

 

บทสรุป สมรสเท่าเทียม

แม้ “สมรสเท่าเทียม” ผ่านความเห็นชอบของสภาวาระแรก ยังมีเสียงสนับสนุนและเห็นต่าง ในวงกว้าง โดย ฝ่ายหนุน เชื่อว่า สังคมจะตื่นตัวมากแค่ไหน แต่ถ้ากฎหมายไม่ปรับตามความก้าวหน้าของสังคม แล้วก็ไม่อาจพูดได้ว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นกฎหมายที่เรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่แค่เป็นเครื่องหมายว่าคู่รักทุกคู่มีสิทธิ์ที่จะรักและสร้างสถาบันครอบครัวร่วมกันได้ แต่จะนำไปสู่สิทธิและสวัสดิการอื่นๆที่จะมีร่วมกันเช่น การรับบุตรบุญธรรม การรับสวัสดิการ การจัดการทรัพย์สิน การเซ็นให้กันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ

 

ฝ่ายอนุรักษ์ ยังมองต่าง “สมรสเท่าทียม” ไม่ต้องตราเป็นกฏหมาย ไม่ต้องสร้างความเสมอภาคด้วยตัวหนังสือ มันเป็นไปไม่ได้ การเป็นทายาทมันคือชาย-หญิง เท่านั้น การผูกสมัครรักใคร่เป็นรสนิยมทางเพศ จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ มันไม่ใช่ธรรมชาติปกติ เข้าใจคำว่าสิทธิ ต้องเคารพและยอมรับในความแตกต่าง อย่าเรียกร้องสิ่งที่สิทธิส่วนบุคคลที่ผิดจากวิสัยธรรมชาติมนุษย์โลก

 

สวนทางกับกลุ่มโลกเสรี ออกตัวสุดแรงหนุน สมรสเท่าเทียม มองเป็นเรื่องดี สังคมไทยควรก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ควรเปิดกว้าง ไม่ต้องมาตีกรอบ เอาจารีตประเพณีมาเป็นบรรทัดฐาน กีดกั้นความต้องการของมนุษย์

 

...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง/ขอบคุณภาพ : พรรคก้าวไกล

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ