เปิดเกณฑ์ 'เบิกจ่ายตรง' ค่ารักษาพยาบาล 'มะเร็ง' ใหม่ ใช้ 15 ก.พ.2566
กรมบัญชีกลาง เปิดหลักเกณฑ์ 'เบิกจ่ายตรง' ค่ารักษาพยาบาล 2 โรค 'มะเร็ง' ใหม่ เริ่มใช้ 15 ก.พ.2566 ครอบคลุม และ คุ้มค่า แค่ไหน
หากพูดถึงโรคมะเร็ง นับเป็นโรคที่มีการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้ว คนไข้จะหมดกำลังใจ เพราะคิดว่ายังไงก็รักษาไม่หาย รวมทั้งค่ารักษา และ ยา ราคาก็ค่อนข้างสูง ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง ได้มีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในการรักษามะเร็งได้ และมีการปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กรมบัญชีกลาง ก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การเบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้เข้าถึงการรักษา ได้ตามความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากเรื่องนี้ ได้รับการชี้แจงจาก กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่ระบุว่า กรมบัญชีกลาง มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลตามความเหมาะสม จำเป็น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้ง เพื่อให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นไปอย่างสมเหตุผล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ปรับปรุงรายการยาและเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายารักษาโรคมะเร็งในระบบ OCPA ดังนี้
- ปรับปรุงเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายา Sorafenib ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma (HCC) และโรคมะเร็งไทรอยด์ระยะแพร่กระจาย
- เพิ่มรายการยา Lenvatinib ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับ ชนิด hepatocellular carcinoma และโรคมะเร็งไทรอยด์ระยะแพร่กระจาย พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าว
สถานพยาบาลจะต้องดำเนินการลงทะเบียนแพทย์ผู้ทำการรักษา และผู้ป่วย และส่งข้อมูลตามโปรโตคอลที่กำหนดในระบบ OCPA เพื่อขออนุมัติเบิกค่ายา หรือขอต่ออายุการเบิกค่ายา หรือขอหยุดการใช้ยา ตามแนวทางที่หน่วยงานซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมบัญชีกลางกำหนด และให้เบิกจ่ายค่ายาในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น รวมทั้งการใช้ยาดังกล่าว ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบ่งชี้ที่กำหนด จึงจะสามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้
2. กำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา Lenvatinib และ Sorafenib สำหรับการรักษาทุกข้อบ่งชี้ โดยให้เบิกจ่ายค่ายาได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด ดังนี้
- Lenvatinib ขนาด 4 มิลลิกรัม และ 10 มิลลิกรัม อัตรา 835 บาทต่อแคปซูล และ 1,552 บาทต่อแคปซูล ตามลำดับ โดยในกรณีที่ใช้ยา 20 มิลลิกรัมต่อวัน ให้เบิกได้เฉพาะความแรง 10 มิลลิกรัมเท่านั้น ทั้งนี้ หลังจากผู้ป่วยใช้ยาครบ 120 วัน และยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ บริษัทผู้จำหน่ายยาจะสนับสนุนยาให้ผู้ป่วยรายนั้นจนกว่าแพทย์จะพิจารณาให้หยุดยา หรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา
- Sorafenib ขนาด 200 มิลลิกรัม อัตรา 319 บาทต่อเม็ด ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยรายเดิมที่ลงทะเบียนขออนุมัติการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าวในระบบ OCPA ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทผู้จำหน่ายยาจะยังคงสนับสนุนยาหลังจากผู้ป่วยใช้ยาครบ 4 เดือน และยังตอบสนองต่อการรักษาดี
โดยหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับ สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบ OCPA มีรายการยาสำหรับการรักษาโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาที่เบิกจ่ายตรงได้ จำนวนทั้งสิ้น 21 รายการ และ 35 เงื่อนไขข้อบ่งชี้
OCPA คืออะไร
OCPA คือโปรแกรมลงทะเบียนยานอกบัญชีฯ ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ดังนี้
- Imatinib ใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง
- Imatinib ใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้
- Rituximab ใช้ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- Trastuzumab ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย
- Bivacizumab ใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย
- Erlotinib ใช้ในการรักษามะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย
- Gefitinib ใช้ในการรักษามะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย