ข่าว

ข่าวดี UNESCO จ่อขึ้นทะเบียน "สงกรานต์" เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข่าวดี ประเทศไทย UNESCO จ่อขึ้นทะเบียน "สงกรานต์" เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชิ้นที่ 4 เทียบเท่า มรดกโลก ปลายปี 2023

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ICH.UNESCO หรือ องค์การยูเนสโก อนุมัติให้ "สงกรานต์" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น Tentative list เพื่อพิจารณาในที่ประชุม ให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชิ้นที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจาก โขน, นวดไทย และ รำโนราห์ของภาคใต้ ในช่วงปลายปี 2023

 

ทั้งนี้ "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" (Intangible Cultural Heritage - ICH) ไม่ใช่มรดกโลก (World Heritage site) แต่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่า "มรดกโลก" เนื่องจากองค์การ UNESCO ได้แยกหมวดหมู่ไว้ชัดเจน กล่าวคือ มรดกโลก ใช้เรียกเฉพาะสถานที่เท่านั้น เช่น แหล่งโบราณคดี, อุทยานประวัติศาสตร์, อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น ส่วน "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" ใช้เรียกเฉพาะหมวดหมู่ในวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก unesco

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หมายถึง การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน หรือในบางกรณี ปัจเจกบุคคลยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งนี้ เป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความภูมิใจในตัวตน และความรู้สึกสืบเนื่องก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

 

โดยประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกลำดับที่ 171 โดยสมัครเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 และมีผลในการเข้าเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2559 โดยมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาฯ และได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการทำงานของประเทศไทย 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการกำหนดหมวดหมู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ออกเป็น 7 สาขา ซึ่งได้มีการดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นประจำทุกปี หมวดหมู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้ง 7 สาขา และตัวอย่างรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว มีดังนี้

 

1. สาขาศิลปะการแสดง

        

การแสดงดนตรี รำ-เต้น และละครที่แสดงเป็นเรื่องราว ทั้งที่เป็นการแสดงตามขนบแบบแผน มีการประยุกต์เปลี่ยนแปลง และ/หรือ การแสดงร่วมสมัยการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการแสดงสดต่อหน้าผู้ชม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อความงาม ความบันเทิงและ/หรือเป็นงานแสดงที่ก่อให้เกิดการคิด วิพากษ์ นำสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม

 

ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

ซอล้านนา หมอลำกลอน เพลงโคราช โขน หนังใหญ่ ละครชาตรี ปี่พาทย์ หุ่นกระบอก ก้านกกิงกะหร่า ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา

 

2. งานช่างฝีมือดั้งเดิม

        

ภูมิปัญญา ทักษะฝีมือช่าง การเลือกใช้วัสดุ และกลวิธีการสร้างสรรค์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ สะท้อนพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มชน

 

ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

ซิ่นตีนจก ผ้ามัดหมี่ ผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอกะเหรี่ยง ก่องข้าวดอก เครื่องจักสานย่านลิเภา มีดอรัญญิก ขันลงหินบ้าบุ เครื่องมุกไทย โคมล้านนา สัตตภัณฑ์ล้านนา ช่างแทงหยวก

 

3. วรรณกรรมพื้นบ้าน

         

วรรณกรรมที่ถ่ายทอดอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยครอบคลุมวรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยวิธีการบอกเล่า และที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

 

ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

นิทานตาม่องลาย นิทานพระรถเมรี ตำนานพระร่วง ตำนานพระธาตุดอยตุง ตำนานปู่แสะย่าแสะ บททำขวัญช้าง ตำราพรหมชาติ ปักขทึนล้านนา

 

4. กีฬาภูมิปัญญาไทย

         

การเล่นกีฬา และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทย และมีเอกลักษณ์สะท้อนวิถีไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

 

ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

มวยไทย ว่าวไทย ตะกร้อ หมากเก็บ หมากรุกไทย มวยตับจาก วิ่งควาย แข่งเรือ มวยโบราณสกลนคร ตาเขย่งหรือตังเต

 

5. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล

         

การประพฤติปฏิบัติในแนวทางเดียวกันของคนในชุมชนที่สืบทอดต่อกันมาบนหนทางของมงคลวิถี นำไปสู่สังคมแห่งสันติสุขแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของชุมชนและชาติพันธุ์นั้น ๆ

 

ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

สงกรานต์ ลอยกระทง เทศน์มหาชาติ ทำขวัญข้าว การผูกเสี่ยว  ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีการละเล่นผีตาโขน พิธีทำขวัญนาค

 

6. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

         

องค์ความรู้ วิธีการ ทักษะ ความเชื่อ แนวปฏิบัติและการแสดงออกที่พัฒนาขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

 

ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

น้ำปลาไทย ฤๅษีดัดตน ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน อาหารบาบ๋า มังคุดคัด เมี่ยงคำ ข้าวหอมมะลิ  ปลากัดไทย แมวไทย การย่างไฟ ลูกประคบ ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย

 

7. ภาษา

         

เครื่องมือที่ใช้สื่อสารในวิถีการดำรงชีวิตของชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งสะท้อน  โลกทัศน์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน ทั้งเสียงพูด ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเสียงพูด

 

ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

อักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาเลอเวือะ ภาษาญ้อ ภาษาพวน ภาษาบีซู ภาษามอแกน

 

ในด้านของ "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" ของประเทศไทย ยังมีคิวจ่อลงทะเบียนกับองค์การ UNESCO อีกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น มวยไทย, ผีตาโขน, กัญญาไทย, อาหารไทย (ข้าวแกง) และข้าวเหนียมมะม่วง เป็นต้น

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : unesco, Asean มองไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ