ข่าว

4 ทศวรรษ ไทยให้สัตยาบัน อนุสัญญา "ไซเตส" ว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

21 มกราคม ครบรอบ 4 ทศวรรษ ไทยให้สัตยาบัน อนุสัญญา "ไซเตส" ว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า เป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 80

21 มกราคม ถึงแม้จะไม่ใช่วันสำคัญในไทย แต่ก็ถือเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญในไทย ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันครบรอบที่ประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ "อนุสัญญาไซเตส"

 

 

ซึ่งการให้สัตยาบันครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยถือเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 80 โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในปี พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983)

 

"ไซเตส" (CITES) หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิด สัตว์ป่า และ พืชป่า ที่ใกล้สูญพันธุ์ (อังกฤษ: Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) และเป็นที่รู้จักในชื่อ อนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Washington Convention) เป็นสนธิสัญญาซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

 

 

ในปี พ.ศ. 2516 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้จัดการประชุมนานาชาติขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อร่างอนุสัญญาดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุม 88 ประเทศ แต่มีผู้ลงนามรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ทันทีเพียง 22 ประเทศ สำหรับประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย แต่มาลงนามรับรองอนุสัญญาในปี พ.ศ. 2518 และให้สัตยาบันในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2526 นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 ปัจจุบัน "ไซเตส" มีภาคีทั้งสิ้น 183 ประเทศสมาชิก

 

เป้าหมายของ "ไซเตส" คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม ทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์กระทำโดยการสร้างเครือข่ายทั่วโลกในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ทั้งสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ "ไซเตส" ไม่ควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ท้องถิ่น (Native Species)

 

 

การค้าสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ จะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุมจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) นำผ่าน (Transit) และส่งกลับออกไป (Re-Export) โดยชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุม จะระบุไว้ในบัญชีหมายเลข 1, 2, 3 (Appendix I, II, III) ของอนุสัญญา โดยได้กำหนดหลักการไว้ดังนี้

 

 

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I)

 

เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย

 

ช้าง

 

 

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II)

 

เป็นชนิดพันธุ์ของ สัตว์ป่า และ พืชป่า ที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นในธรรมชาติ

 

นกยูง

 

 

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 (Appendix III)

 

เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก จากประเทศถิ่นกำเนิด

 

หมาจิ้งจอก

 

 

การกำหนดรายชื่อชนิดพันธุ์ในบัญชี "ไซเตส" ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งด้านอนุกรมวิธาน (Taxonomy) และข้อมูลด้านชีววิทยา (Biological Parameter) ได้แก่ ข้อมูลสถานภาพของประชากร (Population Status) แนวโน้มประชากร (Population Trends) การแพร่กระจาย (Distribution) สถานะแหล่งที่อยู่อาศัย (Habitat Availability) แนวโน้มด้านภูมิศาสตร์ (Geographic Trends) และการถูกคุกคาม (Threats) เป็นตัวกำหนด นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทางการค้าและสถานภาพการทางกฎหมายประกอบในการพิจารณาด้วย

 

 

ที่มา : อนุสัญญาไซเตส (CITES)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ