ข่าว

ย้อนสถานการณ์ปัญหา "ฝุ่น PM2.5" สถิติฝุ่นพิษในแต่ละปีในไทย จว.ไหนเจอมากสุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนสถานการณ์ปัญหา "ฝุ่น PM2.5" ปัญหาที่กระทบกับชีวิตคนไทย เปิดสถิติฝุ่นพิษในแต่ละปี จังหวัดไหนพบเจอปัญหาฝุ่นจิ๋วมากที่สุด

ปัญหาของ "ฝุ่น PM2.5" ยังคงเป็นปัญหาทางมลพิษที่มีมาให้เห็นอยู่ตลอดในหลายจังหวัด ซึ่งแน่นอนไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่รวมไปถึงต่างจังหวัดที่มีประชากรอาศัยเยอะ และมีการสร้างมลพิษทางอากาศอยู่ตลอด

 

 

"ฝุ่น PM2.5" นั้นมีส่วนก่อปัญหาในร่างกายให้กับผู้ที่รับเข้าไปมาก ซึ่งจะมีให้เห็นอยู่เรื่อย สำหรับผู้ป่วยทางด้านปอด ทั้ง มะเร็งปอด รวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่ง "ฝุ่น PM2.5" พวกนี้ในช่วงหน้าฝนอาจจะหายไปบ้าง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงอากาศแห้งกลับเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนในหลายจังหวัดตรวจพบค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่

 

สถานการณ์ "ฝุ่น PM2.5" ปี 2560

 

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากสถิติมลพิษ "ฝุ่น PM2.5" ของเมืองในประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน พ.ศ.2560 นั้น จากการรายงานข้อมูลของสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ 19 สถานีทั่วประเทศมีผลสรุปและข้อสังเกตดังนี้

 

- หากพิจารณาตามค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือน และจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน รวมกัน เมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 5 อันดับแรกคือ สระบุรี (ตำบลหน้าพระลาน) กรุงเทพฯ (ถ.อินทรพิทักษ์ ธนบุรี) สมุทรสาคร (เมือง) ราชบุรี (สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 8) และเชียงใหม่(ต.ศรีภูมิ อ.เมือง)

 

- ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตรวจวัด "ฝุ่น PM2.5" 19 แห่ง ในปี พ.ศ.2560 ทุกพื้นที่ (ยกเว้นดินแดงที่เครื่องวัดไม่ทำงาน) มีค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 เกินระดับที่ีกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ 9 พื้นที่มีค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานของประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

- จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2560 มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษรวม 25 สถานีทั่วประเทศ เพิ่มจากปี พ.ศ. 2558 ที่มีอยู่ 12 สถานี แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นต่อปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของประเทศไทย ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน "ฝุ่น PM2.5" ในพื้นที่เมือง ยังคงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับแย่และยังไม่มีเป้าหมายรับมือ

 

- การที่ มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่เมืองยังอยู่ในระดับแย่และ หลายพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของรัฐบาลจะต้องให้ความสําคัญเป็นอันดับแรกในการ

 

(1) ปรับดัชนีคุณภาพอากาศให้ สอดคล้องและใกล้เคียงอย่างที่สุดกับข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลก(WHO Guideline) โดยกําหนดให้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) เป็นสารมลพิษทางอากาศหลักในการคํานวณดัชนี คุณภาพอากาศ และ

 

(2) ปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามข้อแนะนํา ขององค์การอนามัยโลกเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด

 

 

สถานการณ์คุณภาพอากาศในปี 2563

 

 

พื้นที่ทั่วไป

 

ภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา (2562) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ปริมาณ ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 8) ฝุ่นละออง PM10 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 43 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 9) ก๊าซโอโซน มีค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงสูงสุดเฉลี่ยทั้งประเทศ 81 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 11) เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด19 ทำให้ประชาชนลดกิจกรรมการเดินทาง อุตสาหกรรมลดกำลังการผลิต และการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศลดลง

 

มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือ "ฝุ่น PM2.5" ฝุ่นละออง PM10 และก๊าซโอโซน จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด 5 อันดับแรกใน ปี 2563 ได้แก่ นราธิวาส สตูล ภูเก็ต สงขลา และยะลา ตามลำดับ ซึ่งไม่มีจำนวนวันที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน

 

 

พื้นที่วิกฤต

 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ปัญหา "ฝุ่น PM2.5" ปี 2563 อยู่ในช่วง 20-25 มคก./ลบ.ม. ลดลงกว่าปี 2562 ค่าเฉลี่ยทั้ง 6 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรสาคร) 23 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 12) ทั้งนี้สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ฝุ่นละออง PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น เช่น การเร่งรัดให้มีการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ติดตามตรวจสอบและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 เวลา คือ 7.00 น. 12.00 น. และ 17.00 น. เพื่อแจ้งเตือน สื่อสาร และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา การใช้ข้อมูลทางวิชาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

 

หมอกควันภาคเหนือ มีความรุนแรงกว่าปี 2562 เล็กน้อย จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 112 วัน ซึ่งเท่ากับปี 2562 จุดความร้อนสะสมมีค่า 88,855 จุด (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 2) ปริมาณ ฝุ่นละออง ขนาดเล็กเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด 366 มคก./ลบ.ม. (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 4) สาเหตุหลักมาจากมีการเผาในพื้นที่การเกษตรจำนวนมากประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้มีการลุกลามของไฟป่าอย่างรวดเร็ว

 

การแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือดำเนินการภายใต้กลไก พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยกำหนด 4 พื้นที่ (พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชน) และใช้ 5 มาตรการ (ระบบบัญชาการ การลดเชื้อเพลิง การสร้างความตระหนัก การสร้างเครือข่าย/จิตอาสา และการบังคับใช้กฎหมาย) การยกระดับ 12 มาตรการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง การนำอากาศยานมาสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า การกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด และการตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาไฟป่า

 

ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ฝุ่นละออง PM10 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 92 วัน (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 39) ปริมาณฝุ่นละออง PM10 เฉลี่ยรายปี 107 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 9) โดยร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตควบคุมมลพิษ จ.สระบุรี ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการต่างๆ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น การติดตามตรวจสอบฝุ่นละอองทั้งในบรรยากาศทั่วไปและการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ส่ง Mr. PM10 ลาดตระเวนพื้นที่สุ่มตรวจแบบ Spot check ตรวจจับรถใช้งานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซ่อมบำรุง ดูแลและทำความสะอาดถนนที่เป็นเส้นทางจราจรเพื่อลดปริมาณการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง

 

พื้นที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง สารอินทรีย์ระเหยง่าย ประเภทสารเบนซีน และสาร 1,3 บิวทาไดอีน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนสาร 1, 2 ไดคลอโรอีเทน ลดลงจากปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขปัญหาโดยวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย และกิจกรรมที่ไม่ใช่การผลิตปกติเพื่อหาสาเหตุและควบคุมการระบายสารดังกล่าว การเตรียมความพร้อมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ เรื่อง มาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับการควบคุมการระบายสารเบนซีนในรูปแบบการเฝ้าระวังบริเวณริมรั้ว และการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ในพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา

 

 

สถานการณ์ "ฝุ่น PM2.5" ปี 2564

 

 

สถานการณ์คุณภาพอากาศในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากข้อมูลผลการตรวจวัดในปี 2564 จากสถานีอัตโนมัติ 77 สถานีใน 46 จังหวัด พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 4 และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ลดลงร้อยละ 7 อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปริมาณ "ฝุ่น PM2.5"  PM10  และก๊าซโอโซนเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด ยกเว้นเพียง 5 จังหวัดซึ่งคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ยะลา สงขลา ตรัง และสตูล ซึ่งคุณภาพอากาศดีที่สุดในประเทศไทย

 

จังหวัดที่พบดัชนีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สระบุรี พิษณุโลก กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม และลําปาง โดยเกินค่ามาตรฐานเป็นจํานวน 120, 96, 89 และ 77 ตามลําดับ สําหรับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ พบเกินค่ามาตรฐานในจังหวัดสมุทรปราการ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไม่พบการเกินค่ามาตรฐาน และค่าเฉลี่ยทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา

 

 

ข้อมูล : กรมควบคุมมลพิษกรีนพีซ

 

 

logoline