ข่าว

สรุปประเด็น "Shopping งานวิจัย" ตีแผ่ คอร์รัปชั่น มีชื่อ ไม่ต้องทำเอง

สรุปประเด็น "Shopping งานวิจัย" ตีแผ่ คอร์รัปชั่น มีชื่อ ไม่ต้องทำเอง

09 ม.ค. 2566

สรุปประเด็น "Shopping งานวิจัย" ตีแผ่ คอร์รัปชั่น มีชื่อ ไม่ต้องทำเอง ตีแผ่ คอร์รัปชั่น นักวิชาการ เรียกร้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริง

กลายเป็นเรื่องร้อนในวงการนักวิชาการ หรือ นักวิจัย หลังมีการเผยแพร่ข้อมูล การซื้อ-ขาย หรือ shopping งานวิจัย เพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่บนงานชิ้นนั้น โดยไม่ต้องทำเอง หรือแม้แต่ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตัวเอง แล้วนำไปเคลมเป็นงานของตัวเอง เพื่อขอทุน หรือ อัปเลเวลการทำงาน จ่ายเงินแค่ไม่มาก แต่คุ้มค่ามหาศาล

 

นักวิชาการหลายคนมองว่า พฤติกรรมแบบนี้ ไม่แตกต่างจากการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการ คมชัดลึกออนไลน์ จะสรุปประเด็นนี้ มาตีแผ่ ให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ 

สรุปประเด็น Shopping งานวิจัย

 

1. เรื่องฉาวของวงการวิจัยและมหาวิทยาลัยตอนนี้ เริ่มจากมีนักวิจัยต่างชาติ เปิดเผยข้อมูล ที่พบว่า มีการซื้อขายงานวิจัยบนช้อปปิ้งออนไลน์ เพื่อให้ตัวเองมีชื่อ โดยไม่ต้องทำเอง เพียงแค่เข้าไปอ่านงานวิจัยในเว็บ shopping online แล้วเลือกซื้องานวิจัย ที่ตัวเองสนใจ แม้จะไม่ได้อยู่ในสายงานที่เกี่ยวข้องก็ตาม

 

2. ในงานวิจัยแต่ละชิ้นที่อยู่บนช้อปปิ้งออนไลน์ จะมีลำดับในการเลือกว่าจะอยู่ลำดับที่เท่าไร ชื่อในลำดับต้น ๆ เรทราคาจะสูงกว่า ลำดับชื่อที่อยู่
ล่าง เมื่อเลือกลำดับที่ชอบได้แล้ว จากนั้นก็กดซื้อ และ ชำระเงิน

 

3. จากนั้น งานวิจัยผี ก็จะส่งไปตีพิมพ์ โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่ง ก็จะสามารถเคลมเป็นผลงานทางวิชาการของตัวเอง หรือ ไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อถอนทุนคืนได้

 

4. งานวิจัยที่ออกมา จะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการ

shopping งานวิจัย

5. มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่ม เมื่อพบว่า นักวิจัยรุ่นใหม่คนนี้ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์กว่า 40 ฉบับ เฉลี่ยแล้ว 9 วัน ออก 1 paper ภายในปีเดียว พร้อมกับเจอว่า มีเครือข่ายนักวิจัย ทั้งใน และนอกประเทศที่น่าสนใจมาก ๆ บางคนเป็นถึงอดีตผู้บริหารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชื่อดังด้วย

 

6. แต่ที่พีคสุด เมื่อพบว่า อาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีชื่อปรากฎลำดับแรก ในงานวิจัยเรื่องของวัสดุนาโน ทั้งที่สายงานที่สังกัดอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ โดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้น มาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท 

 

7. นอกจากนั้น เมื่อมีการค้นหาชื่อ และประวัติการตีพิมพ์งานวิจัยของอาจารย์คนนี้ กลับเจอเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะชื่อที่ปรากฎร่วมกับคนอื่นในวารสารต่าง ๆ ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่ไม่ใช่ฟิวงานของเขาเท่านั้น แต่ยังมีบทความทั้งด้านเกษตร ,เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความก็เป็นการวิจัยในรัสเซีย อินโดนีเซีย และโลกมุสลิม ฯลฯ ที่มีชื่อเขียนร่วมกับคนอื่น ๆ แต่กลับไม่พบบทความภาษาไทย ปรากฎในวารสารใด ๆแม้แต่ชิ้นเดียว

shopping งานวิจัย

8. ชื่อที่ปรากฎในงานวิจัย ไม่ใช่มีแค่ อาจารย์ ม.ดัง แต่เมื่อดูรายละเอียดการมีส่วนร่วมของผู้แต่งแต่ละคน โดยเฉพาะผู้แต่งที่มาจากประเทศไทย กลับมีบุคลากรด้านพยาบาลอยู่ด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า สามารถเขียนวารสารวิชาการในหัวข้อเชิงเทคนิค โดยที่ไม่มีงานส่วนไหนเกี่ยวข้องกับงานด้านพยาบาลเลย แถมหนึ่งในนั้นมีหน้าที่หาทุนมาให้คณะผู้วิจัยด้วย

 

9. สรุป จุดที่พีคที่สุดคือ ผู้นิพนธ์หลักสำคัญที่สุด เป็นนักวิจัยจากอินโดนีเซีย ซึ่งไม่มีหน้าที่อะไรใน paper นี้เลย เพียงแค่จ่ายเงิน $1000 ตามที่ระบุใน website ก็สามารถได้เป็นหนึ่งในผู้ทำงานวิจัยชิ้นเอกได้ตามต้องการ 

 

10. หลังจากประเด็นนี้ถูกเผยแพร่ออกไป กลายเป็นเรื่องร้อนที่เหล่านักวิชาการ ต่างเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ เพราะถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง เนื่องจากเป็นการหากิน ด้วยการเอาเงินมหาวิทยาลัย ไปจ่ายซื้อ "ที่" ในบทความที่ตัวเองไม่ได้เขียน และหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนถูกด้อยค่าไปโดยปริยาย

 

 

อ่านโพสต์ที่เกี่ยวข้อง Pinkaew Laungaramsri