ข่าว

เตรียมใช้ "บัตรประชาชน" ซื้อ "ช่อดอกกัญชา" คาด เริ่มใช้ ม.ค.66

เตรียมใช้ "บัตรประชาชน" ซื้อ "ช่อดอกกัญชา" คาด เริ่มใช้ ม.ค.66

15 ธ.ค. 2565

กรมแพทย์แผนไทยฯ เตรียมใช้ "บัตรประชาชน" ในการซื้อ "ช่อดอกกัญชา" เป็นฐานตรวจสอบข้อมูลในระบบแบบเรียลไทม์ คาด เริ่มใช้ ม.ค.2566

(15 ธ.ค. 2565) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ประกาศให้ "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดขั้นตอนการใช้โปรแกรม การส่งต่อข้อมูลการขายช่อดอกกัญชาแห้งในร้านค้าที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยกำหนดให้เจ้าของร้าน ต้องแจ้งปริมาณกัญชาที่ครอบครอง แหล่งข้อมูลสถานที่ที่ซื้อและขายไป

      

ส่วนคนซื้อต้องมีอายุเกิน 20 ปี ต้องเสียบบัตรประชาชน เพื่อเป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงกับระบบของกรม ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบได้แบบเรียลไทม์ สร้างความมั่นใจให้คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ (INCB) ที่มีความห่วงกังวลเรื่องการควบคุมการขายช่อดอกกัญชา

 

 

"เมื่อมีระบบนี้ ก็สามารถรายงานให้ INCB ได้อย่างชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้หน่วยงานระหว่างประเทศ เรื่องการควบคุมจำหน่ายช่อดอกกัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่า จะนำระบบดังกล่าวมาใช้กับร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายในเดือน ม.ค. 2566 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับการอนุญาตเป็นร้านขายแล้ว 5,000 แห่ง เฉพาะ กทม. มีราว ๆ 2,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในย่านการท่องเที่ยวหนาแน่น เช่น ทองหล่อ ถนนข้าวสาร เป็นต้น" นพ.ธงชัยกล่าว 

 

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะยังไม่มี พ.ร.บ.กัญชากัญชง แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ใช้ประกาศตามอำนาจของแต่ละกรมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ ซึ่งมีความหลากหลาย แต่ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ถ้าจะให้ดีต้องมี พ.ร.บ.เฉพาะออกมาควบคุม ในข้อที่ยังเป็นกังวล อาทิ  การควบคุมการสูบกัญชาในที่สาธารณะ ที่บังคับใช้ยาก ต้องให้มีผู้ร้องเรียนก่อน ถึงดำเนินการได้ แต่ถ้ามี พ.ร.บ.ออกมา ก็จะสามารถควบคุมได้อย่างชัดเจนขึ้น เพราะเขียนว่าห้ามสูบในที่สาธาณรณะ

 

ขณะที่ประกาศกรมการแพทย์แผนไทยฯ เรื่องการคุมช่อดอกกัญชา ยังมีช่องโหว่บางเรื่อง เช่น  สามารถบังคับใช้กับผู้ที่ขออนาตเท่านั้น

 

สำหรับสาระสำคัญของประกาศช่อดอกกัญชากัญชงเป็นสมุนไพรควบคุม

 

  1. ห้ามใช้ช่อดอกไปศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายหรือแปรรูปก่อนได้รับอนุญาต ซึ่งจำหน่ายหมายรวมถึง ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ผู้ที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา
  3. ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการ เว้นแต่เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อการรักษาผู้ป่วยของตน
  4. ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  5. ห้ามโฆษณาในทุกช่องทางเพื่อการค้า
  6. ห้ามสูบในสถานที่ต้องห้าม ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก ส่วนสถานศึกษานั้นมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดไว้อยู่แล้ว 
  7. ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามนำช่อดอกมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร”