ข่าว

"น้องพีท" เด็กไทยเจ๋ง คว้า เหรียญทอง วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เด็กไทยเจ๋ง "น้องพีท" นักเรียน ม.3 ชาวอุดรธานี คว้า เหรียญทอง เหรียญเดียวของไทย การแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่โคลัมเบีย

(12 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกลุ่มไลน์ของ จ.อุดรธานี ได้มีการแสดงความยินดี และชื่นชม กับ "น้องพีท" นายภัทรพล ธนพิทักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล หลังจากไปสร้างชื่อเสียง และสร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล รวมทั้งชาวจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนประเทศไทย

 

ในการคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (International Junior Science Olympiad: IJSO) ครั้งที่ 19 ประจำปี 2565 ณ ประเทศโคลัมเบีย และรางวัลที่ 1 ประเภททฤษฎี และเป็นเหรียญทองเหรียญเดียวของประเทศไทย

เด็กไทยคว้าเหรียญทองการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีเด็กไทย ที่สามารถคว้าเหรียญเงินอีก 4 รางวัล ได้แก่นายทัดภู อุดมเกียรติ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม,นายพีรกร ตรีจักรขจร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย,นายนภหิรัณย์ สถิรประภากุล โรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์,นายณัฐกร เหมสนิท โรงเรียนแสงทองวิทยา และ 1 เหรียญทองแดง คือนายธนัฐถ์ ลิ่มอภิชาต โรงเรียนแสงทองวิทยา

เด็กไทยไปแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

สำหรับการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (International Junior Science Olympiad: IJSO) เป็นสาขาหนึ่งในสาขาของโอลิมปิกวิชาการประเภทเดียว ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากการแข่งขันมีข้อกำหนดว่า ผู้เข้าแข่งขันต้องมีอายุน้อยกว่า 15 ปีในวันแข่งขัน

 

โดยมีการเริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 ที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะหมุนเวียนในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และมีการจัดการแข่งขันทุก ๆ ปี โดยแต่ละประเทศสามารถส่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้ 6 คน และสามารถส่งอาจารย์ผู้คุมทีมได้อีก 3 คน

 

ข้อสอบในการแข่งขัน

 

ข้อสอบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งจะแข่งในแต่ละวัน ตามกำหนดการที่เจ้าภาพจัดไว้ ซึ่งข้อสอบจะวัดความรู้ผู้เข้าสอบในรายวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยมีคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน

 

ข้อสอบภาคทฤษฎีแบบปรนัย (Test Examination)

เป็นข้อสอบแบบเลือกตอบทั้งหมด 30 ข้อ โดย 10 ข้อเป็นวิชาฟิสิกส์ 10 ข้อเป็นวิชาเคมี และอีก 10 ข้อเป็นวิชาชีววิทยา ซึ่งแต่ละข้อจะมีคำตอบให้เลือกทั้งหมด 4 ตัวเลือก ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูก จะได้รับ 1 คะแนน ไม่ได้คะแนนหากไม่ตอบคำตอบ และจะโดนหักลบ 0.25 คะแนน สำหรับข้อที่ตอบผิด ซึ่งในส่วนนี้มีคะแนนเต็ม 30 คะแนน

 

ข้อสอบภาคทฤษฎีแบบอัตนัย (Theoretical Examination)

 

ข้อสอบภาคทฤษฎีแบบอัตนัย จะแบ่งเป็น 3 วิชาเช่นเดียวกัน โดยต้องแสดงวิธีทำในการหาคำตอบ ในส่วนนี้จะมีคะแนนเต็มทั้งหมด 30 คะแนน

 

ข้อสอบภาคปฏิบัติการ (Experiment Examination)

 

การสอบภาคปฏิบัติการจะสอบเป็นทีม ทีมละ 3 คน โดยสมาชิกแต่ละคน ต้องเป็นผู้แทนประเทศจากประเทศเดียวกัน แต่ละประเทศจะมีทีมแข่งขันมากที่สุดทั้งหมด 2 ทีม โดยแต่ละทีมจะต้องทำตามคำสั่ง และตอบคำถามตามที่ข้อสอบถาม สมาชิกทุกคนในทีมจะได้รับคะแนนเท่ากัน โดยในส่วนนี้จะมีคะแนนเต็มทั้งหมด 40 คะแนน

 

รางวัลในการแข่งขัน

 

หลังจากตรวจข้อสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะถูกเรียงตามลำดับของคะแนน ร้อยละ 10 ของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดที่ได้คะแนนสูงสุด จะได้รับเหรียญทอง ร้อยละ 20 ถัดมาจะได้รับเหรียญเงิน ส่วนร้อยละ 30 ถัดมาจะได้รับเหรียญทองแดง และยังมีรางวัลสำหรับทีมที่ได้คะแนนในการสอบภาคปฏิบัติการสูงสุด รางวัลสำหรับประเทศที่ได้คะแนนรวมดีที่สุดในการแข่งขัน ยังมีรางวัลให้แก่ผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนภาคทฤษฎีสูงสุด และคะแนนรวมสูงสุดอีกด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ