ข่าว

"ติดโควิด" หายแล้ว ตรวจ ATK ยังขึ้นสองขีด ความชัดเจน วันกักตัว

"ติดโควิด" หายแล้ว ตรวจ ATK ยังขึ้นสองขีด ความชัดเจน วันกักตัว

11 ธ.ค. 2565

"ติดโควิด" หายแล้ว ตรวจ ATK ยังขึ้นสองขีด เสี่ยงแพร่กระจายเชื้อได้แค่ไหน เปิดความสำคัญของ ATK กับความชัดเจน วันกักตัว

สถานการณ์โควิด ที่มีการแพร่ระบาด กลายพันธุ์ ตั้งแต่อู่ฮั่น จนมาถึงโอไมครอน แตกแขนงออกมาเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกหลายนามสกุล นับไม่ถ้วน จนล่าสุด การระบาดของโควิดในประเทศไทย กว่า 70% เป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 แต่คำถามที่มักจะได้ยินในทุกวันนี้ หนีไม่พ้น ติดโควิดกักตัวกี่วัน ติดโควิดกี่วันหาย ติดโควิดแล้วไม่มีอาการ แต่ยังไม่ครบกำหนดวันกักตัว ATK เหลือขีดเดียว ยังแพร่เชื้ออยู่หรือไม่

 

เรื่องนี้ มีการศึกษาวิจัยจากหลายสำนัก ในยุคที่โอไมครอนแพร่ระบาด และมีการฉีดวัคซีนกันค่อนข้างหลายเข็มแล้ว ปริมาณไวรัส เมื่อตรวจ ATK มีเพียงพอทำให้ การอ่านผล แม่นยำหรือไม่ แม้เหลือขีดเดียว เหลือหายแล้ว ไม่มีอาการ แต่ยังขึ้นสองขีด เป็นซากเชื้อ หรือ เชื้อจริง

 

 

จากผลการวิจัยล่าสุด ที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววิทยา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค-สวทช.ยกมาจากทีมวิจัยในเยอรมัน ที่ได้เผยแพร่ผลวิจัยที่ทดสอบประสิทธิภาพของ ATK 2 ยี่ห้อ ในการทดสอบตัวอย่างของผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงโอไมครอนระบาดจำนวน 428 ตัวอย่าง โดย 80.77% เป็น BA.5 15.38% เป็น BA.2 และ 3.70% เป็น BA.4 พบว่า

 

ในตัวอย่างที่นำมาศึกษามีค่า Viral load ที่ตรวจด้วย RT-PCR ที่แตกต่างกัน มากสุดสูงได้ถึงมากกว่า 10^8 และ ต่ำสุดอยู่ที่ ต่ำกว่า 10^3 โดย ATK 2 ยี่ห้อนี้มีความแตกต่างกันในด้านประสิทธิภาพเล็กน้อย แต่ถือว่าผลค่อนข้างออกไปในทางเดียวกัน ทีมวิจัยพบว่า ในตัวอย่างที่มี Viral load สูงกว่า 10^6 ความสามารถในการตรวจพบด้วย ATK สูงมากกว่า 80% แล้วแต่ยี่ห้อที่ใช้ โดยบางยี่ห้อสามารถตรวจพบได้เกือบ 100% ที่ปริมาณไวรัสระดับนี้ โดยค่าต่ำสุดที่ ATK อาจไม่สามารถตรวจพบได้อย่างมีความแม่นยำที่เชื่อถือได้ คือต่ำกว่า 10^3

ขอบคุณภาพจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววิทยา

เมื่อลองนำค่า Viral load มาแปลงเป็น Ct คร่าว ๆ ในกราฟจะเห็นว่า 10^6 คือ Ct ประมาณ 25 และ 10^3 จะประมาณ 35 ซึ่งจากตัวเลขนี้ก็สามารถประมาณคร่าวๆได้ว่า ATK ที่ได้มาตรฐานจะมีความสามารถตรวจไวรัสโอไมครอน BA5 และ อื่น ๆ ได้ในช่วง Ct น้อยกว่า 25 - ไม่เกิน 35 ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่มีประโยชน์ต่อการประเมินสภาวะปริมาณไวรัสในร่างกาย

 

ซากเชื้อหรือเชื้อจริง

 

ประเด็นที่หลายคนอาจสงสัยคือ ปริมาณไวรัสเท่าไหร่ที่ยังแพร่เชื้อต่อได้ ไม่ใช่ตรวจซากเชื้อ ข้อมูลจาก CDC ที่รายงานออกมาระบุว่า ถ้าใช้ Ct เป็นตัวประเมินจะพบว่า ไวรัสในกลุ่มโอไมครอนมีความแตกต่างจากไวรัสช่วงก่อนโอไมครอนชัดเจน

 

กล่าวคือ ในช่วงก่อนโอไมครอน ถ้าตรวจ RT-PCR ที่ได้ค่า Ct สูงกว่า 25 หรือ เกิน 30 โอกาสที่จะได้ไวรัสที่เพาะเลี้ยงต่อได้จะมีน้อยมาก ๆ แต่สำหรับไวรัสโอไมครอน ค่า Ct ต่ำสุดที่จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการเพาะเชื้อจะสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่า อะไรที่ต่ำกว่า Ct 35 ยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้

 

ขอบคุณภาพจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา

ขณะที่ผลวิจัยอีกทาง มีการพิสูจน์ โดยเอาคนที่ติดโควิดครบ 10 วัน และไม่มีอาการแล้ว แต่ยังตรวจ ATK เจอ ไปเพาะเชื้อ ปรากฎว่า มากกว่า 99.99% เพาะเชื้อไม่ขึ้น มีเพียง 1-2 รายที่เพาะเชื้อขึ้น และเป็นผู้ป่วยเด็ก จึงเป็นข้อสรุปว่า 10 วันไปแล้ว ถ้าอาการเป็นปกติ ไม่ว่า ATK จะยังอยู่หรือไม่ ถือว่าหายแล้ว

 

ถ้าแค่ไอ ไม่มีไข้ คิดว่าหายโรค เชื้อไม่แพร่แล้ว เพราะอาการไอจะหายช้าสุดอยู่แล้ว บางคนไอต่อไปหลายอาทิตย์ ATK 2 ขีด คือซากเชื้อ (ตรวจเจอได้)     

 

บทสรุป

 

ดร.อนันต์ สรุปว่า ดังนั้นจากตัวเลขที่ลองประเมินดู การใช้ ATK ในการประเมินความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อ หลังติดโควิด ยังมีประโยชน์อยู่ แต่ข้อแม้ที่สำคัญคือ ATK ต้องมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน และการตรวจต้องทำได้ถูกวิธี ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจมากกว่า 1 ยี่ห้อ หากยังมีข้อสงสัยอยู่ ส่วนการนับวันกักตัว ภายหลังจากตรวจ ATK ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เพราะการตอบสนองต่อไวรัสไม่เท่ากัน