ข่าว

ย้อนไทม์ไลน์ "โควิด19" จาก อู่ฮั่น ยัน โอไมครอน ไทยเจอแล้วกี่สายพันธุ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนไทม์ไลน์ "โควิด19" สายพันธุ์ใดระบาดในไทยบ้าง ตั้งแต่ "อู่ฮั่น" จนถึง "โอไมครอน" จุดจบของการระบาดจะมีหรือไม่

อัปเดตสถานการณ์การระบาดของ "โควิด19" ที่ล่าสุด เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวก็ได้มีการกลับมาระบาดอีกระลอก ซึ่งครั้งนี้เป็นการระบาดตามช่วงฤดูกาลที่มีคาดการณ์เอาไว้ก่อนแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นช่วงเปิดเทอม ยังรวมไปถึงสภาพอากาศที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดการระบาดได้ง่าย เพราะเชื้อจะอยู่ได้นานมากขึ้น

 

 

โดยการระบาดครั้งนี้ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ล่าสุด โอไมครอน สายพันธุ์ BA.2.75 ได้ครองการระบาดในไทยแทนที่ BA.5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพบว่ามีข้อมูลการแพร่เชื้อที่เร็ว ทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น ครั้งนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะย้อนไทม์ไลน์ สายพันธุ์โควิด ที่เข้ามาระบาดในไทย ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น จนถึงสายพันธุ์ โอไมครอน ล่าสุด ว่ามีสายพันธุ์หลักๆ ชนิดใดบ้าง

 

โดยการแพร่ระบาดของ "โควิด19" นั้นเริ่มมาจากการแพร่ระบาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีข่าวออกมาว่าเกิดจากการติดเชื้อมาจาก ค้างคาว เกิดการแพร่ระบาดจากคนสู่คน จนกลายเป็นวงกว้าง และส่งต่อไปยังหลายประเทศ ซึ่งในประเทศไทยพบเชื้อครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2563 โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เดินทางมาจากเมืองฮู่ฮั่น ต่อมาก็พบผู้ติดเชื้อคนแรกที่เป็นชาวไทย คือ คนขับรถแท็กซี่ อายุ 50 ปี

 

 

สายพันธุ์ อู่ฮั่น (Serine)

 

พบครั้งแรกที่ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในช่วงปลายปี 2562 และพบที่ไทยครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2563 ซึ่งมาจากหญิงชาวจีนที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งการแพร่เชื้อครั้งนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายพื้นที่ต่างๆ และเกิดคลัสเตอร์ในจุดสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน และ จ.สมุทรสาคร

 

 

สายพันธุ์เบตา (B.1.351)

 

พบการระบาดครั้งแรกที่ ประเทศแอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในประเทศไทยเดือนมกราคม ปี 2564 ซึ่งผู้ที่นำสายพันธุ์เข้ามาในประเทศไทย มาจากบุคคลที่เดินทางมาจากแทนซาเนีย โดยพบว่าเชื้อนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ไวขึ้น 50% จากสายพันธุ์ดั้งเดิม ถือเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะก่อให้เกิดอาการหนัก หากลงปอดจะทำให้จะทำให้เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก

 

โควิด

 

สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7)

 

พบการระบาดครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร พบครั้งแรกในไทยเดือนเมษายน 2564 โดยการแพร่ระบาดเริ่มต้นที่ คลัสเตอร์ทองหล่อและแพร่กระจายไปเกือบทุกจังหวัด แต่สายพันธุ์นี้ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้มีอาการไม่มากนัก ไข้ต่ำๆ ปวดตามร่างกาย แต่ยังรับกลิ่นได้ปกติ

 

 

สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2)

 

พบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย โดยพบที่ไทยครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2564 จากคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ ก่อนที่จะเกิดการระบาดกระจายเป็นวงกว้างทั่วทุกพื้นที่ และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ซึ่งสายพันธุ์นี้ถือว่าอันตรายมากในไทย เพราะส่งผลให้มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวนมากถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม

 

โควิด

 

 

สายพันธุ์ โอไมครอน 

 

พบการระบาดครั้งแรกในแถบแอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในไทยเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งสายพันธุ์ โอไมครอน เป็นสายพันธุ์ที่ WHO ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะมีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามหลายตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น มีการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว สามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก 

 

สายพันธุ์ โอไมครอน เป็นสายพันธุ์มีการกลายพันธุ์มากที่สุด จนเกิดสายพันธุ์ย่อยมากมาย ซึ่งในไทยจะพบหลายสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเป็นหลัก ทั้ง BA.2, BA.4/BA.5 จนถึงสายพันธุ์ล่าสุด BA.2.75 ที่ตอนนี้ครองการระบาดแทนที่ BA.5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างเร็ว แพร่ได้ไว จนทำให้มีผู้ติดเชื้อกลับมาสูงขึ้น

 

และจากการคาดการณ์ของแพทย์หลายท่านที่เคยออกมาบอกว่า "โควิด19" นั้น ถึงแม้จะลดการแพร่กระจายเป็นบางช่วง แต่ก็จะยังคงอยู่ และแพร่ระบาดตามฤดูกาลซึ่งทางประเทศไทยนั้น ได้มีการปรับมาตรการผ่อนคลายลง เมื่อเห็นว่า การแพร่ระบาดมีการลดลง จึงได้ปรับลดระดับ "โควิด19" จาก โรคติดต่อร้ายแรง เป็น โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาล่าสุด พบว่าประชากรไทยได้ติดเชื้อ โควิด19 แล้ว 60-70%

 

วัคซีนโควิด

 

 

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น แต่การแพร่ระบาดยังคงอยู่ และยังบอกไม่ได้ว่าจะมีจุดจบเมื่อไหร่ เพราะตัวไวรัสยังมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ยังคงต้องมีการระมัดระวังตัวเอง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานเพื่อรับมือกับเชื้อที่ยังคงแพร่ระบาด และหากติดเชื้อก็จะช่วยลดอาการจากหนักให้กลายเป็นเบาได้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ